วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระผงสุพรรณ 20 ก.ค 45






พระผงสุพรรณ เหรียญขวัญถุงครับ

ขาย 1.500  บาท

โทร 0872250463 ชื่อต้นครับ


หลวงปู่คำแสน เหรียญกระดุมเล็ก

หลวงปู่คำแสน เหรียญกระดุมเล็ก รุ่น2 ปี 2520








 เหรียญ หลวงปู่คำแสนฯ รุ่นนี้คณะศิษย์อำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์ สร้างถวายในวาระที่หลวงปู่คำแสนมีอายุครบ 7 รอบอายุ 84 ปี เป็นเหรียญที่เหมาะสำหรับเด็ก-สตรี เพราะมีขนาดเล็ก. เหรียญที่ได้รับความนิยม ไม่ค่อยพบเห็นครับ










ราคา 1.200 บาท โทร 087-2250463 ต้นครับ

วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ทุกข์เกิดมาจากไหน

ทุกข์เกิดมาจากไหน - ปฏิจจสมุปบาท


"อวิชชา" สภาพที่ปราศจากความรู้ ทำให้เกิด...

"สังขาร" คือ อำนาจปรุงแต่ง ให้สิ่งนั้นหยุดอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป สังขารเป็นเหตุให้เกิด...

"วิญญาณ" คือ จิตชนิดที่จะทำหน้าที่ของจิต จิตที่อยู่เฉย ๆ เป็นภวังคจิต มันไม่ทำหน้าที่อะไรได้ มันถูกสังขารปรุงให้เป็นวิญญาณ ซึ่งคือจิตชนิดหนึ่งที่จะทำหน้าที่รับอารมณ์ได้ เฉพาะเรื่อง เฉพาะขณะหนึ่งเท่านั้น วิญญาณนี้ก็ทำให้เกิด

"นามรูป" - คือ กายกับใจ ที่มันยังไม่เป็นอะไร ยังไม่ทำหน้าที่อะไร เหมือนกับตายด้านอยู่ ให้ลุกขึ้นมาเป็นกายกับใจที่ทำหน้าที่ได้ชั่วขณะ ชั่วเรื่อง ชั่วตาเห็นรูป ชั่วหูฟังเสียง ฯลฯ ชั่วขณะอย่างนั้นเท่านั้น...

นามรูปที่เป็น active นั้น มันเกิดขึ้น (ส่วน)นอกจากนั้นมันเป็น dormant ที่หลับอยู่ เป็นกายกับใจที่ไม่ทำหน้าที่ วิญญาณนี้มันทำให้กายกับใจที่หลับอยู่เกิดเป็น active ขึ้นมา คือ ทำหน้าที่

กายกับใจหรือนามรูปอันนี้ มันก็ทำให้ "อวัยวะ 6" คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่หลับอยู่นี่ ลุกขึ้นมาทำหน้าที่รับอารมณ์ รับอะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ฯลฯ

ทีนี้การที่ว่าอวัยวะข้างในนี้ มันพบกันเข้ากับสิ่งข้างนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ เขาเรียกว่าการกระทบ หรือว่า "ผัสสะ" มันเกิดขึ้น กระทบผัสสะอย่างนี้แล้ว ก็มี "เวทนา" เกิดขึ้น ถูกใจหรือไม่ถูกใจ

เวทนาเกิดขึ้นแล้ว มันก็ทำให้เกิด "ตัณหา" คือ ความต้องการด้วยความโง่...ถูกใจก็อยากยึดครอง ไม่ถูกใจก็อยากจะทำลาย...

เมื่อตัณหาเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัย ทีนี้ก็ยึดมั่น ในสิ่งที่มันอยาก มันต้องการ นี้เรียกว่า "อุปาทาน"

พฤติของจิตมี concept มาถึงอุปาทานอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าพร้อม มีความพร้อมที่จะ "เป็นอยู่" หรือเป็นชีวิตอันหนึ่งในขณะนั้น เขาเรียกว่า "ภพ"....ภพนี้เรียกเป็นภาษาที่จะเขาใจสำหรับพวกคุณ คือคำว่า existance คือ ความมีอยู่ เป็นอยู่...

หลังจากภพก็มี "ชาติ" คือ ความเกิด นี่เป็นความรู้สึกที่เป็นตัวฉัน หรือตัวเรา ตัวอะไรเต็มที่....นี่คือชาติที่คน(ส่วนมาก)ยังไม่รู้จัก ก็คือ ชาติตอนนี้ ไม่ใช่ชาติที่เกิดจากท้องแม่ เป็นชาติที่เกิดจากอวิชชาประจำวัน

พอมีชาติอย่างนี้แล้ว ก็มีชรา มรณะ โสะ ปริเทวะ หรือว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ที่นอนหลับอยู่เฉย ๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหน จะมาเป็นปัญหาขึ้นในใจทันที เป็นความทุกข์ เป็นความกลัว ....

นี่เรียกว่า ความทุกข์มาจากตัณหา อุปาทาน ภพ และชาติ อย่างนี้ พอถึงความทุกข์ ก็เรียกว่ารอบหนึ่งแล้ว

ทีนี้ความทุกข์เกิดแล้ว ไม่ใช่อวิชชามันหมด อวิชชามันยังอยู่ คือ มันยังมีความเคยชินที่จะเกิดอยู่นั่นแหละ เดี๋ยว ทีนี้มันไปกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางไหนเข้าอีก มันก็ทำงานอย่างนี้อีก เป็นวง ๆ ไปอย่างนี้ นี่คือ ปฏิจจสมุปบาท ที่เรียกแล้วฟังยาก แล้วไม่มีใครสนใจ ที่แท้ก็คือ motion อาการของสิ่งประหลาดลึกลับอันหนึ่ง ที่หมุนอยู่ในตัวคนนี้ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์

พุทธทาสภิกขุ

ย่อจากธรรมเทศนา เรื่อง วงล้อของชีวิตในชีวิตประจำวัน
9 เมษายน 2514
บรรยายอบรมภิกษุนิสิตมหาวิทยาลัยมหิดล

การรักษาอารมณ์ของมโนมยิทธิ


หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)


มโนมยิทธินี่จะพาเราเป็นพระอริยะเจ้าได้เร็วที่สุด วิธีที่จะทรงมโนมยิทธิได้ ก็คือ


๑.พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงอยู่ในศีล
๒.นิวรณ์ ๕ ประการ อย่าให้มายุ่งกับใจ

ไอ้นิวรณ์ ๕ ประการน่ะไปไล่เบี้ยให้ดีว่ามีอะไรบ้าง แล้วก็วิธีที่จะระงับนิวรณ์ ๕ ก็ไม่ยาก ก็คือไม่สนใจมันเสียเลยในขณะที่ทรงสมาธิ หนักเข้าๆ พยายามไม่สนใจมันซะทั้งวัน สนใจอย่างเดียวว่า จับพระรูปพระโฉมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา

คำว่า “ตลอดเวลา” ท่านอาจจะบอกว่ามันยากเกินไป แต่อย่าลืมว่าผมทำมาได้ ในตอนต้นผมทำได้ ที่ผมมาพูดนี่ผมทำได้ผมถึงมาพูด มันไม่ใช่ยากเกินไป และคนอื่นเขาก็ทำได้ คืออย่างใหม่ๆ มันก็ลืมบ้าง ไม่ลืมบ้าง ลืมบ้าง นึกได้บ้าง เป็นของธรรมดา

นี่ผมไม่ตำหนิ แต่พยายามควบคุมกำลังใจว่า ถ้าว่างเมื่อไหร่จับพระรูปพระโฉมพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นปกติ ถ้ามันชินจริงๆ ถ้าเราพูดอยู่ ทำงานอยู่ จิตมันก็จับเห็นพระพุทธรูปเป็นปกติ ถ้าทำได้ตลอดเวลา นี่เป็นฌานเป็น “พุทธานุสสติกรรมฐาน”

ถ้าเราเห็นพระพุทธเจ้าอยู่เป็นปกติ ท่านไม่ต้องสนใจว่าอารมณ์ของท่านจะเสื่อมเมื่อไหร่ ไม่มีคำว่าเสื่อม มันมีความแจ่มใสตลอดเวลา การที่จะเห็นเทวดา เห็นพรหม ไปนิพพานเรื่องง่ายๆ อารมณ์มันอยู่ตรงนี้

แต่ว่า ภาพพระพุทธเจ้านี่เป็นเครื่องวัดจิตของเรา ถ้าวันไหนถ้าจิตเราเลว วันนั้นภาพพระพุทธเจ้าจะไม่ผ่องใส จะมัวหมอง ถ้าเลวมากจะหายไปเลย เราก็ต้องค้นคว้าว่า มันเลวเพราะอะไร ทวนถอยหลังดูว่า ตั้งแต่เช้ามาถึงเวลานี้ เราทำอะไรผิดบ้าง ถ้าทำอะไรผิดไป เรารู้ตัวก็ขอขมาโทษต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย ว่าจะไม่ทำต่อไปแล้ว อารมณ์ก็จะแจ่มใสตามเดิม นี่เป็นการรักษาอารมณ์แบบง่ายๆ

ประการที่ ๒ การขึ้นไปนิพพานน่ะ ต้องขึ้นทุกวัน ถ้าวันหนึ่งหลายเที่ยวยิ่งดี การขึ้นไปไม่ต้องไปนั่งขัดสมาธิ ให้มันคล่องตัวจริงๆ เดินไปเดินมาปั๊บ!กำหนดจิตขึ้นไปถึงนิพพานเลย ขึ้นไปไหว้พระพุทธเจ้า

ต้องการรู้อะไรถามพระพุทธเจ้าโดยตรง อย่ารู้เอง ถ้ารู้เองไม่ช้าผิด ถ้าเราจะรู้อะไร ถ้ามันมีความรู้อยู่บ้าง ตัดอารมณ์รู้ทิ้งไปเสียก่อน ทำไม่รู้ไม่ชี้ ให้จิตมันทรงตัว แล้วก็เข้าไปถามพระพุทธเจ้าตรง ท่านบอกยังไงเชื่อตามนั้น ตรงกับความจริงทั้งหมด นี่เป็นการรักษาอารมณ์ ว่ากันโดยย่อนะ

สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อย่าท้อใจคิดว่ายังไม่ได้ ก็รวมความว่าถ้าไม่มีบารมีมาในกาลก่อน ท่านก็ไม่อยากเจริญกรรมฐาน นี่เป็นเครื่องวัด คนที่ไม่มีความดีมาเลย กรรมฐานนี่เขาไม่ทำกัน

บารมี ๓ ขั้น คือ ถ้ามีบารมีต้น แค่บารมีต้นอย่างเดียว การเจริญกรรมฐานก็ไม่อยากทำ พอใจขั้นศีลกับทาน ถ้าหากมีบารมีเป็นอุปบารมี ก็พอใจแค่ฌานสมาบัติ ถ้าหากบารมีถึงขั้นปรมัตถบารมี จึงจะพอใจพระนิพพาน อันนี้ไปวัดใจเอาเอง

ถ้าหากว่าบารมีถึงอุปบารมี เราก็เร่งรัดเป็นปรมัตถบารมีได้ ไม่ใช่มันจมอยู่แค่นั้น มันสร้างต่อได้ นี่ขอท่านจงมั่นใจในความดีในอดีตของท่านว่าเคยสั่งสมความดีมามากแล้ว ตอนนี้ถ้าทุกคนที่ได้แล้วนะ จะไปถามองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอดูภาพเดิมก็จะเห็นชัดว่าเราเคยได้ฌานสมาบัติมาแล้วกี่ชาติ ถ้าท่านถามจริงๆ ท่านจะงงเต็มทีว่า โอ้โฮ!นี่เราได้มาตั้งเยอะแล้วหรือนี่

ภูมิที่อยู่ใกล้กับโลกมนุษย์

ภูมิที่อยู่ใกล้กับโลกมนุษย์..แต่เปรี่ยมด้วยทุกขเวทนายิ่ง


มีอยู่ภูมิหนึ่งที่อาศัยอยู่ร่วมกับโลกมนุษย์เรานี่แหละ เรามองไม่เห็นเค้า แต่เค้ามองเห็นเรา ภูมิของเขาจะซ้อนอยู่ในโลกของเรา เป็นภูมิแห่งการเสวยทุกข์โดยแท้ หาสุขมิได้เลย จมอยู่กับความทุกข์อยู่ทุกเมื่อ...

เปรตมักจะมาอยู่ใกล้ๆ ลูกหลานเชื้อสายเผ่าพงษ์ นั้นเป็นเพราะว่า มีกรรมเป็นเผ่าพันธ์เดียวกัน "กรรมะพันธุ" สืบต่อสายใยแห่งกรรม ฃเป็นเชื้อสายโดยตรง เมื่อทำบุญถึงเหล่าพงศาบรรดาเปรตบรรพบุรุษทั้งหลาย บุญจะถึงพร้อมแก่เปรตเหล่านั้นทุกประการ แต่หาได้น้อยนัก คนที่จะทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว นั้นเป็นเพราะเขาไม่สามารถที่จะมองเห็นบรรพบุรุษที่ตกทุกข์ได้ยากของเขาได้ และอีกประการคนในสมัยนี้หลงลืมบรรพบุรุษแล้ว ลองให้ย้อนคิดถึงบรรพบุรุษกันเล่นๆ ก็คิดออกได้ไม่เกินสามรุ่น ผู้ที่เสวยกรรมเป็นเปรตในยุคนี้จึงลำบากมาก

การเกิดของสัตว์ภูมินี้ มาจากการสร้างกรรมไม่ดีกระทำสิ่งชั่วช้าลามกในสมัยที่เป็นมนุษย์ เมื่อตายจากการเป็นมนุษย์ด้วยบุพกรรมดลให้ไปเกิดเป็นเปรต
ปรุงแต่งนาม(เป็นนามธาตุ ไม่มีรูป) ไปตามรายละเอียดปลีกย่อยของบุพกรรมที่ได้กระทำ ทุกข์ก็เสวยไม่เหมือนกัันนะ รายละเอียดเยอะ ตกอยู่ในสภาวะเฉพาะตน..ฯ

ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงเปรตไว้หลายประเภท เช่น

แบ่งตาม เปตวัตถุอรรถกถา (แบ่งได้ 4 ประเภท)
1. ปรทัตตุปชีวิกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ จากอาหารที่มีมนุษย์ให้ เช่น การเซ่นไหว้ เป็นต้น
2. ขุปปีปาสิกเปรต คือ เปรตที่อดอยาก ทุกข์จากความหิวโหยอยู่เป็นนิจ
3. นิชฌามตัณหิกเปรต คือ เปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
4. กาลกัญจิกเปรต คือ เปรตในจำพวกอสุรกาย

แบ่งตาม คัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์ (แบ่งได้ 12 ประเภท)


1. วันตาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
2. กุณปาสเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินซากศพคนหรือสัตว์ เป็นอาหาร
3. คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร
4. อัคคิชาลมุขเปรต คือ เปรตที่มีเปลวไฟลุกทั่วในปากตลอดเวลา
5. สุจิมุขเปรต คือ เปรตที่มีปากเท่าเล็กขนาดเท่ารูเข็ม
6. ตัณหัฏฏิตเปรต คือ เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนจนเกิดทุกข์จากความหิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
7. สุนิชฌามกเปรต คือ เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา
8. สุตตังคเปรต คือ เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวและคมราวกับมีด
9. ปัพพตังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าขนาดของภูเขา
10. อชครังคเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายราวกับงูเหลือม
11. เวมานิกเปรต คือ เปรตที่ต้องเสวยสุขเป็นเทวดาเฉพาะในเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืนได้ไปเสวยทุกข์เป็นเปรตกินเนื้อตัวเอง
12. มหิทธิกเปรต คือ เปรตที่ถวายสิ่งของให้แก่พระสงฆ์ไม่ว่าจะเป็น ช้าง ม้า หรือเกวียน ซึ่งเป็นการถวายเพื่อเอาหน้าแต่ลับหลังขอคืน เมื่อตายไปเป็นเปตรที่ขี่ช้าง ม้า ไม่ก็นั่งเกวียน

แบ่งตามวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลี (แบ่งได้ 21 ประเภท)

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่กระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ
2. มังสเปสิกเปรต คือ เปรตที่มีแต่เนื้อเป็นชิ้นๆ
3. มังสปิณฑเปรต คือ เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
4. นิจฉวิปริสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
5. อสิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
6. สัตติโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นหอก
7. อุสุโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
8. สูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
9. ทุติยสูจิโลมเปรต คือ เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
10. กุมภัณฑเปรต คือ เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
11. คูถกูปนิมุคคเปรต คือ เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
12. คูถขาทกเปรต คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการกินอุจจาระ
13. นิจฉวิตกิเปรต คือ เปรตหญิงที่ไม่มีหนังห่อหุ้ม
14. ทุคคันธเปรต คือ เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
15. โอคิลินีเปรต คือ เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
16. อลิสเปรต คือ เปรตที่ไม่มีศีรษะ
17. ภิกขุเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับพระ
18. ภิกขุณีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภิกษุณี
19. สิกขมานเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสิกขมานา
20. สามเณรเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณร
21. สามเณรีเปรต คือ เปรตที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับสามเณรี

อกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ไปจุติเป็นเปรต


1. ผู้มักอิจฉาริษยาผู้อื่น คิดอยากได้ทรัพย์สินของเขา ไม่ให้ทาน ตลอดจนโกงทรัพย์สินของสงฆ์มาเป็นของตน ตายไปเกิดเป็นเปรตตัวใหญ่ ปากเท่ารูเข็ม มีแต่กระดูก ตัวเหม็นสาป ผมรุ่ยร่ายลงมาคลุมปาก เสวยทุกขเวทนาทั้งกายใจ ร้องไห้คร่ำครวญนานนับพันปี

2. ผู้บวชเป็นสมณชีพราหมณ์ มักดูถูก กล่าวร้าย ติเตียนครูอาจารย์และคณะสงฆ์ ตายไปเกิดเป็นเปรตมีกายงามดังทอง มีปากเหมือนหมู ปากนั้นเหม็นหนักหนา มีหนองเต็มปาก หนอนเจาะกินปากหน้าตาและเนื้อตัวเขา

3. หมอหญิงให้ยาหญิงมีครรภ์กินเพื่อให้แท้งลูก ตายไปเกิดเป็นเปรตผู้หญิง เปลือยกาย ตัวเน่าเหม็น มีแมลงวันตอมจำนวนมาก ร่างกายมีแต่เส้นเอ็นและหนังหุ้มกระดูก กินเนื้อลูกน้อยตนตลอดเวลา

4. หญิงเห็นสามีถวายข้าว น้ำ และผ้าแก่คณะสงฆ์ กลับโกรธเคืองด่าทอสามี ตายไปเกิดเป็นเปรตผู้หญิงเปลือย อดอยาก เห็นข้าวน้ำอยู่ตรงหน้าก็จะหยิบมากิน แต่ข้าวน้ำนั้นกลายเป็นอาจม เป็นเลือด เป็นหนอง เห็นผ้าจะหยิบมานุ่งห่ม ผ้านั้นกลายเป็นแผ่นเหล็กแดงลุกไหม้ตลอดตัว

5. ผู้มักตระหนี่ไม่เคยทำบุญให้ทาน เห็นคนอื่นทำบุญให้ทานก็ห้ามปราม ตายไปเกิดเป็นเปรตร่างสูงใหญ่เท่าต้นตาล เส้นผมหยาบ ตัวเหม็นมาก อดอยากยากไร้นักหนา

6. ผู้เอาข้าวลีบปนข้าวดีแล้วไปหลอกขาย ตายไปเกิดเป็นเปรตเอามือกอบข้าวลีบลุกเป็นไฟใส่ศรีษะของตนตลอดเวลา ต้องทุกข์ทรมานมากมายหลายพันปีในนรก

7. ผู้ที่ตีศรีษะมารดาบิดาด้วยมือ ไม้ และเชือก ตายไปเกิดเป็นเปรตเอาฆ้อนเหล็กแดงตีศรีษะตนเอง

8. ผู้ที่มีคนมาขอข้าว ข้าวมีแต่หลอกว่าไม่มี ตายไปเกิดเป็นเปรต กินแต่ลามกอาจมปนหนองเน่าเหม็นนักหนา

9. ผู้เป็นข้าราชการ รับสินบนผู้ผิด ตัดสินความผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิด ตายไปเกิดเป็นเปรตมีวิมาน มีบริวารนางฟ้า แต่เอาเล็บมือคมดังมีดกรด ขูดเนื้อหนังตัวเองกินต่างอาหาร

10. ผู้ด่าทอ กล่าวเท็จต่อพระสงฆ์ ผู้ใหญ่ผู้มีศีล ตายไปเกิดเป็นเปรตมีเปลวไฟพุ่งออกจากปาก อกและลิ้นแล้วลามไหม้ทั่วตัวเขา

11. ผู้มักข่มเหงรังแกคนยากไร้เข็ญใจอย่างไร้กรุณาปราณี เอาทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตน และใส่ความผู้ไม่มีความผิด ตายไปเกิดเป็นเปรตผอม อดอยากมาก เห็นน้ำใสเอามือกอบจะกิน น้ำนั้นกลายเป็นไฟไหม้เขาทั้งตัว เขากลิ้งเกลือกตายในไฟนั้น

12. ผู้เผาป่า สรรพสัตว์หนีไม่ทันถูกไฟป่าคลอกตาย ตายไปเกิดเป็นเปรตผอม ตัวเปื่อยเน่ามือเน่า ตีนเปื่อยหลังโก่ง เขาเอาไฟคลอกตัวเองตลอดเวลา

13. ข้าราชการตัดสินความโดยไม่ชอบธรรม ไม่วางตัวเป็นกลาง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ขูดรีดชาวบ้าน ตายไปเกิดเป็นเปรต ตัวใหญ่เท่าภูเขา มีขน เล็บตีนเล็บมือใหญ่ยาว คมดังมีดกรดและหอกดาบ ลุกเป็นเปลวไฟแทงตัวเขาตลอดเวลา


ผู้ที่ "สวดมนต์ ภาวนา สัพเพฯ แผ่บุญ" อยู่เป็นประจำ นับเป็นผู้มีประโยชน์ต่อทุกรูปนาม สามารถช่วยแผ่บุญให้สัตว์ในภูมิเปรตได้ฯ

"ใครจะใหญ่เกินกรรม"

วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ถ้าเราไม่ได้ทำความผิด 5 อย่าง (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกามไม่พูดเท็จ และดื่มน้ำเมา) อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในป่าในดงก็มีศีลอยู่ในรถในราก็มีศีล ให้เข้าใจศีลตรงนี้ ที่คอยจะรับจากพระนั้นไม่ใช่

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย


พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถือกำเนิดในสกุล สุวรรณรงค์ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุล
ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม
จังหวัดสกลนคร บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของพระเสนาณรงค์
เจ้าเมืองพรรณานิคม มารดาชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของ หลวงประชานุรักษ์ จะเห็นได้ว่า
เชื้อสายของท่านเป็นขุนนางทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน
ที่เรียกว่า ผู้ไทย ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระอาจารย์ฝั้น เคยเล่าว่า บรรพบุรุษของท่านได้ข้ามมาแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเป็นครอบครัว
ใหญ่เรียกว่าไทยวัง หรือไทยเมืองวัง (ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งอยู่ในเขตมหาชัยของประเทศลาว)

บิดาของท่านพระอาจารย์เป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางเยือกเย็น เป็นที่นับหน้า
ถือตา จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ ต่อมาบิดาของท่านได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ
อีกหลายครอบครัว ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีลำห้วยอูน
ผ่านทางทิศใต้ และลำห้วยปลาหางอยู่ทางทิศเหนือ เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์
และเลี้ยงไหม ตั้งชื่อว่าบ้านบะทอง โดยมีบิดาของท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป

เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเยาว์ พระอาจารย์มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยใจคอเยือกเย็น
อ่อนโยน โอบอ้อมอารีกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดาของท่าน ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร
อดทนต่ออุปสรรคหนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดา และญาติพี่น้อง
โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใดๆ ทั้งสิ้น

ด้านการศึกษา พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดบ้านม่วงไข่ (วัดโพธิ์ชัย) สอนโดย
ครูหุน ทองคำ และครูตัน วุฒิสาร ตามลำดับ พระอาจารย์เมื่อครั้งนั้นเป็นผู้มีความขยัน
หมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาด
ได้รับความไว้วางใจจากครูให้สอนเด็กคนอื่นๆ แทน ในขณะที่ครูมีกิจจำเป็น

พระอาจารย์ฝั้นเคยคิดจะเข้ารับราชการจึงได้ตามไปอยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ ผู้เป็นพี่เขย
ซึ่งเป็นปลัดเมืองฝ่ายขวา ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปชั้นสูงขึ้น
ในช่วงนี้เองท่านได้พิจารณาเห็นความยุ่งเหยิงไม่แน่นอนของชีวิตคฤหัสถ์ ได้เห็นการปราบปราม
ผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน มีการประหารชีวิต ครั้งนั้นพี่เขยได้ใช้ให้เอาปิ่นโตไปส่งนักโทษอยู่เสมอ
ท่านได้เห็นนักโทษหลายคนแม้เคยเป็นใหญ่เป็นโต เช่น พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่น
ต้องโทษฐานฆ่าคนตาย นายวีระพงษ์ ปลัดซ้ายก็ถูกจำคุก แม้แต่นายเขียน พี่เขยของท่าน
เมื่อย้ายไปเป็นปลัดขวาอำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ก็ต้องโทษฐานฆ่าคนตายเช่นกัน
สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้
ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ท่านได้สติบังเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก
จึงเลิกคิดที่จะรับราชการและตัดสินใจบวช เพื่อสร้างสมบุญบารมีในทางพุทธศาสนาต่อไป

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา


ชีวิตสมณะของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2461 เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี
ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง อำเภอพรรณานิคม และในปี พ.ศ.2462
ถัดมา ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดสิทธิบังคม ตำบลบ้านไร่ อำเภอพรรณานิคม
มีพระครูป้อง นนตะเสน เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์นวลและพระอาจารย์สังข์
เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากออกพรรษาปีนั้น
ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง จึงได้ปฏิบัติธรรม อบรมกัมมัฏฐาน
ตลอดจนการออกธุดงค์อยู่รุกขมูลกับท่านอาจารย์อาญาครูธรรม

ปีถัดมา 2463 ท่านได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งได้เที่ยวธุดงค์มาพร้อมด้วยภิกษุสามเณร
หลายรูป และพักที่ป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็นวัดภูไทสามัคคี) เมื่อได้ฟังธรรมจาก
พระอาจารย์มั่น ท่านบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสติปัญญาความสามารถของ พระอาจารย์มั่น
จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์พร้อมท่านอาญาครูดี และพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน เนื่องจากทั้งสามท่าน
ยังไม่พร้อมในเครื่องบริขารจึงยังไม่ได้ธุดงค์ตามอาจารย์มั่นไปในขณะนั้น

เมื่อทั้งสามท่านได้เตรียมเครื่องบริขารเรียบร้อยแล้ว ประจวบกับได้พบกับ พระอาจารย์ดูลย์
อตุโล ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นมาก่อน และกำลังเดินธุดงค์ ติดตามหาพระอาจารย์มั่นเช่นกัน
พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ศึกษาธรรมเรียนวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้นจากพระอาจารย์ดูลย์
จากนั้นทั้งสี่ท่านได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้นำทาง
จนได้พบพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน ท่านทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมกับ
พระอาจารย์มั่นที่นั่นเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
(ผู้ซึ่งได้ร่วมเผยแพร่ธรรมกับพระอาจารย์มั่น) ที่บ้านหนองดินดำ แล้วจึงไปรับการอบรมธรรม
จากพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่บ้านหนองหวายเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงไปที่บ้านตาลเนิ้ง
และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นเสมอๆ

เมื่ออาจารย์ฝั้นได้รับการศึกษาอบรมธรรมะจากพระอาจารย์มั่นและได้ฝึกกัมมัฏฐาน
จนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ บำเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มารบกวนได้แล้ว
ท่านจึงได้ตัดสินใจทำการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2468
ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปจำพรรษาแรกกับพระอาจารย์มั่น ที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ
จังหวัดหนองคาย ร่วมกับเพื่อนสหธรรมิกหลายรูป เช่น พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาจารย์กว่า สุมโน ออกพรรษาปีนั้นท่านได้เดินธุดงค์
เลียบไปกับฝั่งแม่น้ำโขงเที่ยวธุดงค์ไปหลายแห่ง วกกลับมายังวัดอรัญวาสี แล้วธุดงค์ติดตาม
และพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบัน อำเภอศรีสงคราม)
ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้จำพรรษาและโปรดญาติโยมที่บ้านดอนแดงคอกช้าง
อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

หลังออกพรรษาท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ร่วมกับหมู่คณะออกเผยแพร่ธรรมทางจังหวัดอุบลราชธานี
โดยได้รับเอาโยมมารดาของพระอาจารย์มั่นไปอุบลฯ ด้วย ในปี 2470 นี้ท่านได้จำพรรษาที่
บ้านบ่อชะเนง อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับอาจารย์กู่ เทศนาสั่งสอนญาติโยม
ที่นั่น พ.ศ.2471 ท่านได้ไปจำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
หลังออกพรรษาท่านได้ไปเผยแพร่ธรรมที่จังหวัดขอนแก่น ได้จำพรรษาที่จังหวัดขอนแก่น
เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างนั้นท่านได้อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีเลิกกลัวผี
ให้หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือศีล 5 และภาวนาพุทโธ ท่านเป็นที่พึ่ง
และให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้านทั่วไป คนคลอดลูกยาก คนไอไม่หยุด คนถูกผีเข้า
คนมีมิจฉาทิฏฐิหลอกลวงชาวบ้าน ท่านช่วยเหลือแก้ไขด้วยอุบายธรรมะได้หมดสิ้น
ตัวท่านเองบางครั้งก็อาพาธเช่น ระหว่างที่จำพรรษาบนภูระงำ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
ท่านปวดตามเนื้อตามตัวอย่างมาก ท่านก็ใช้ธรรมโอสถ โดยนั่งภาวนาในอิริยาบทเดียว
ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง 9 โมงเช้า ทำให้อาการอาพาธหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน
และทำให้ท่านก้าวหน้าในทางธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

ระหว่างปี พ.ศ.2475-2486 พรรษาที่ 8-19 ท่านได้จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมาโดยตลอด
แต่ในระหว่างนอกพรรษาท่านจะท่องเที่ยวไปเพื่อเผยแพร่ธรรมและตัวท่านเองก็ได้ศึกษา
และปฏิบัติธรรมด้วย เช่น ก่อนเข้าพรรษาปี 2475 ท่านพระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วย
พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมอาการป่วย
ของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) โดยพักที่วัดบรมนิวาสเป็นเวลา 3 เดือน
เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ.2477 ท่านได้เดินธุดงค์ไปในดงพญาเย็น ท่านได้พบเสือนอนหันหลังให้
ในระยะที่ใกล้มาก ท่านสำรวมสติเดินเข้าไปใกล้ๆ มัน แล้วร้องถามว่า "เสือหรือนี่?"
เจ้าเสือผงกหัวหันมาตามเสียงแล้วเผ่นหายเข้าป่าไป เมื่อเดือน 3 พ.ศ.2479
พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อน ได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่วัดเจดีย์หลวง
จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้อยู่ใกล้ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงได้เร่งความเพียรทั้งกลางวัน
และกลางคืน เล่ากันว่าท่านทั้งสองต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิได้โดยตลอด
ทั้งๆ ที่กุฏิห่างกันเป็นระยะทางเกือบ 500 เมตร

ออกพรรษาปี พ.ศ.2486 พระอาจารย์ฝั้นได้ออกธุดงค์จากวัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขาที่เห็นว่าสงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้
และขณะเดียวกันก็สั่งสอนธรรมะช่วยเหลือชาวบ้านที่มีความทุกข์ยาก และพาชาวบ้าน
พัฒนาหมู่บ้านและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ท่านธุดงค์ผ่านไปเขาพนมรุ้งต่อไปจังหวัดสุรินทร์
จนกระทั่งถึงจังหวัดอุบลราชธานี โดยจำพรรษาปี พ.ศ.2487 ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ นี้เอง
พระอาจารย์ฝั้นมีหน้าที่เข้าถวายธรรมแก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ซึ่งกำลังอาพาธ
(ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคชรา) และใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรรักษาโรคปอดแก่ท่านอาจารย์มหาปิ่น
จนกระทั่งออกพรรษาปีนั้น ปรากฏว่าทั้งสมเด็จฯ และพระมหาปิ่นมีอาการดีขึ้น

ปี พ.ศ.2488-2496 ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมือง
จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมชื่อวัดป่าธาตุนาเวง เป็นป่าดงดิบอยู่ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตรเศษ
ท่านได้นำชาวบ้านและนักเรียนพลตำรวจพัฒนาวัดขึ้นจนเป็นหลักฐานมั่นคง ในพรรษา
ท่านจะสั่งสอนอบรมทั้งศิษย์ภายใน (คือพระเณรและผ้าขาว) และศิษย์ภายนอก
(คืออุบาสกอุบาสิกา) อย่างเข้มแข็งตามแบบฉบับของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทุกวันพระ
พระเณรต้องฟังเทศน์แล้วฝึกสมาธิและเดินจงกรมตลอดคืน อุบาสกอุบาสิกาบางคนก็ทำตามด้วย
ช่วงออกพรรษาท่านก็มักจะจาริกไปกิจธุระหรือพักวิเวกตามที่ต่างๆ เช่น บริเวณเทือกเขาภูพาน
เป็นต้น ช่วงปี พ.ศ.2491 ท่านไปวิเวกที่ภูวัวและได้สร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาที่สวยงามมาก
ออกพรรษาปี พ.ศ.2492 ได้ติดตามพระอาจารย์มั่นถึงวัดสุทธาวาสที่จังหวัดสกลนคร
และเฝ้าอาการพระอาจารย์มั่นจนถึงแก่มรณภาพ ออกพรรษา ปี พ.ศ.2493-2495
ท่านได้ไปเผยแพร่ธรรมแถวภาคตะวันออกเช่นที่จันทบุรี บ้านฉาง (จ.ระยอง) และ ฉะเชิงเทรา
ในระหว่างนั้นก็แวะเผยแพร่ธรรมไปตามที่ต่างๆ ด้วย เช่น ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ
และวัดป่าศรัทธาราม นครราชสีมา เป็นต้น

ราวกลางพรรษาปี พ.ศ.2496 ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้ปรารถกับศิษย์ทั้งปวงเสมอว่าท่านได้
นิมิตเห็นถ้ำแห่งหนึ่งทางตะวันตกของเทือกเขาภูพาน เป็นที่อากาศดี สงบและวิเวก
พอออกพรรษาปีนั้นเมื่อเสร็จกิจธุระต่างๆ แล้ว ท่านได้พาศิษย์หมู่หนึ่งเดินทางไปถึงบ้านคำข่า
พักอยู่ในดงวัดร้างข้างหมู่บ้าน เมื่อคุ้นกับชาวบ้านแล้วท่านได้ถามถึงถ้ำในนิมิต
ในที่สุดชาวบ้านได้พาท่านไปพบกับถ้ำขามบนยอดเขายอดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจของท่านมาก
เพราะเป็นที่วิเวกจริงๆ ทิวทัศน์สวยงามมองเห็นถึงจังหวัดสกลนคร อากาศดี
สงัดและภาวนาดีมาก ดัานหลังถ้ำเต็มไปด้วยต้นไม้

ออกพรรษาปี พ.ศ.2505 ท่านพระอาจารย์ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร
เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อจะได้สั่งสอนอบรมโปรดชาวบ้านพรรณา
อำเภอพรรณานิคมบ้าง วัดป่าอุดมสมพรนี้เดิมเป็นป่าช้าติดกับแหล่งน้ำชื่อหนองแวง
ที่บ้านบะทอง ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่าน
ท่านเคยธุดงค์มาพักชั่วคราวเพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานแด่บุพการี
ครั้งเมื่อออกพรรษาปี 2487 พร้อมด้วยพระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาญาครูดี
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษามาโดยตลอด
จนกระทั่งได้กลายเป็นวัดป่าอุดมสมพร

ด้วยนิสัยนักพัฒนา ช่วงที่พักที่วัดป่าอุดมสมพร (2505) ท่านพระอาจารย์ได้นำญาติโยม
พัฒนาเส้นทางจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปถึงบ้านหนองโคก ท่านไปประจำอยู่กับงานทำถนน
ทั้งวันอยู่หลายวันจนอาพาธเป็นไข้สูง และต้องยอมเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสกลนคร
และเดินทางไปรักษาตัวต่อที่กรุงเทพฯ เมื่ออาการทุเลาแล้วจึงเดินทางกลับสกลนคร
เนื่องด้วยท่านยังมีความดันเลือดค่อนข้างสูง แพทย์จึงได้ขอร้องให้ท่านงดขึ้นไปจำพรรษา
บนถ้ำขาม เพราะสมัยนั้นยังต้องเดินขึ้น ดังนั้นท่านจึงจำพรรษาปี 2506 ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์

ช่วงปี พ.ศ.2507 จนถึงพรรษาสุดท้ายของท่านคือ ปี พ.ศ.2519 ท่านพระอาจารย์ฝั้น
จำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพรโดยตลอด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัย
ท่านได้พัฒนาวัดนั้นเป็นการใหญ่ มีการขุดขยายหนองแวงให้กว้างและลึกเป็นสระใหญ่
สร้างศาลาใหญ่เป็นที่ชุมนุมสำหรับการกุศลต่างๆ สร้างกุฏิ โบสถ์น้ำ พระธาตุเจดีย์
ถังเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำ ถึงแม้ว่าท่านจะจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร แต่วัดถ้ำขาม
และวัดป่าภูธรพิทักษ์ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบและอุปการะของท่าน ท่านยังคงไปๆ มาๆ
ด้วยความห่วงใยอยู่เสมอ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2519 องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐิน
ที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านจำพรรษาอยู่ และได้ทรงนิมนต์ท่านเข้าไปพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อวันที่ 22 เดือนเดียวกัน อีกชั่วระยะเวลาหนึ่งระหว่างที่พักในวัดบวรฯ ล้นเกล้าฯ
ทั้งสองพระองค์ยังได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียนและสนทนาธรรมกับท่านนอกจากนั้นล้นเกล้าฯ
ทั้งสองพระองค์ยังได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนท่านที่วัดป่าอุดมสมพรเป็นการส่วนพระองค์เมื่อวันที่
14 ตุลาคม พ.ศ.2518 อีกด้วย

ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2520 ด้วยอาการอันสงบ

ท่านพระอาจารย์ฝั้น เป็นผู้มีระเบียบเรียบร้อย สมกับที่ท่านสืบตระกูลมาจากผู้สูงศักดิ์
นอกจากนั้นท่านมีความขยันหมั่นเพียรอย่างเอกอุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบำเพ็ญภาวนา
การอบรมสั่งสอนศิษย์ หรือการก่อสร้างอาคารถนนหนทาง ท่านถือเอาการงานและหน้าที่
เป็นเรื่องสำคัญข้อแรก ส่วนความสะดวกสบายนั้นเป็นข้อรอง และท่านปฏิบัติเช่นนี้
โดยสม่ำเสมอมาตั้งแต่หนุ่มจนถึงวัยชรา

คุณประสพ วิเศษศิริ เล่าถึงกิจวัตรประจำวันตามปกติของท่านพระอาจารย์ฝั้น
จากประสบการณ์ที่ได้บวชในช่วงปี 2512 ที่วัดป่าอุดมสมพร ไว้ในหนังสืออนุสรณ์อายุครบ
60 ปี ของคุณประสพเองว่า

"03.00 น. ท่าน (พระอาจารย์) ตื่น พระและเณรผลัดเปลี่ยนเวรกันถวายน้ำบ้วนปากและล้างหน้า
เสร็จแล้วท่านก็นั่งภาวนาบนกุฏิชั้นบน 04.00 น. พระและเณรทั้งวัดตื่นทำความสะอาดร่างกาย
แล้วนั่งภาวนา 05.00 น. จัดบาตรลงศาลา กวาดถู จัดที่นั่งฉัน ตั้งกระโถน กาน้ำฯ 06.00 น.
เตรียมบาตร ซ้อนผ้าคลุม ยืนรอท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านจะนำบิณฑบาตทุกๆ เช้า ท่านอาจารย์ใหญ่
ไม่เคยขาดการบิณฑบาตเลย มาระยะหลังๆ ท่านอาพาธก็ยังพยายามบิณฑบาตในวัด
พระและเณรทุกๆ รูปก็ต้องออกบิณฑบาตเป็นกฎของวัด นอกเสียจากรูปใดเร่งความเพียร
ตั้งสัจจะว่าจะไม่ฉันอาหารจึงไม่ต้องบิณฑบาตในวันที่ไม่ฉัน 07.00 น. ถึง 08.00 น. เริ่มฉัน
และฉันในบาตรโดยวิธีสำรวม พระ เณร ผ้าขาว ฉันเหมือนกันหมด อาหารอย่างเดียวกัน
พระเถระผู้ใหญ่ท่านจะตักอาหารแล้วก็ส่งองค์รองลงมาต่อๆ กันไปจนตลอดแถวประมาณ 09.00 น.
ฉันอาหารเสร็จเป็นอันว่าเสร็จเรื่องการฉันไปหนึ่งวัน เพราะกฎของวัดฉันเพียงมื้อเดียว
ท่านอาจารย์ใหญ่ยังคงรับแขกญาติโยมบนศาลา จนกว่าท่านจะเห็นสมควรขึ้นกุฏิ
ส่วนพระเณรอื่นๆ นอกจากรูปไหนที่เป็นเวรคอยรับใช้ปรนนิบัติท่านก็ช่วยกันเก็บกวาดอาสนะ
ให้เรียบร้อย และนำบาตร กระโถน กาน้ำ แก้วน้ำไปล้าง สำหรับบาตรต้องรักษาให้ดี
ยิ่งล้างให้สะอาดเช็ดให้แห้ง แล้วนำไปเปิดฝาผึ่งแดดบนระเบียงกุฏิ 10.00 น. ถึง 11.00 น.
เดินจงกรม 11.00 น. ถึง 12.00 น. พักผ่อนตามอัธยาศัย เวลา 12.00 น. ถึง 15.00 น.
นั่งภาวนา สาธยายหนังสือ สวดมนต์ ทบทวนพระปาฏิโมกข์ หรือไม่ก็จะเดินจงกรม
สุดแต่อัธยาศัย แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ห้ามคุยกันเล่นไม่ว่าเวลาไหน เวลา 15.00 น.
ตีระฆังลงศาลา ฉันน้ำปานะ โกโก้ กาแฟ หรือน้ำอัดลม ตามแต่ศรัทธาของเขาจัดถวาย
เวลา 15.30 น. พระเณรทุกรูปลงปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วทำความสะอาดส้วม
และตักน้ำใส่ห้องส้วมให้เต็มทุกห้อง เวลา 17.00 น. ผลัดเปลี่ยนกันไปสรงน้ำอาจารย์ใหญ่
ผู้ที่ไม่ได้รับเวรสรงน้ำอาจารย์ใหญ่ก็ไปสรงน้ำตามกุฏิของตน เสร็จแล้วไปคอยอาจารย์ใหญ่
อยู่บนกุฏิของท่านเพื่อรับการอบรมจากท่านต่อไป เมื่อท่านอบรมแล้วใครมีปัญหาอะไร
เป็นต้นว่า ภาวนาเห็นนิมิตอะไร หรือสงสัยปัญหาธรรมอะไร ขัดข้องตรงไหนจะเรียนถามท่านได้
ท่านจะคลายปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน เวลา 19.00 น. ตีระฆังทำวัตรเย็น
(สวดมนต์เย็น) โดยอาจารย์ใหญ่ท่านจะเป็นผู้นำไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วท่านจะแสดงธรรม
โปรดและนำนั่งสมาธิต่อจนถึงเวลา 23.00 น. บางครั้งก็ถึงเวลา 24.00 น. ถ้าเป็นวันพระ
จะประชุมฟังธรรมจนสว่างแต่ท่านจะหยุดพักเป็นระยะๆ เมื่อเหนื่อยก็อนุญาตให้พักเปลี่ยนอิริยาบถ
ยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำและฉันน้ำ เสร็จแล้วก็เดินจงกรมต่อ สำหรับอาจารย์ใหญ่
ท่านจะไม่ลงจากศาลาจนรุ่งเช้า สว่างแล้วก็แยกย้ายกันกลับกุฏิของตน
ใครจะเดินจงกรมต่อหรือจะทำกิจวัตรสุดแต่อัธยาศัย"

ธรรมโอวาท


ธรรมโอวาทของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้รับการรวบรวมโดย คุณหมออวย เกตุสิงห์
ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่ว่าด้วย "พระอภิธรรมสังคินี มาติกา"
เป็นงานประพันธ์ของพระอาจารย์ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่ม และท่านได้เขียนไว้ด้วย "อักษรธรรม"
เป็นลายมือของท่านเองงดงามมาก ส่วนที่สองเป็นพระธรรมเทศนา (อาจาโรวาท)
ที่ท่านแสดงให้ฟังและมีผู้จดจำหรืออัดเทปไว้ ในส่วนนี้มีทั้งหมด 15 กัณฑ์
ในที่นี้จะยกมาเฉพาะบางส่วนในอาจาโรวาท เล่มที่ 8 ดังนี้

"บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละ ทานก็รู้อยู่แล้ว
คือการสละหรือการละการวาง ผู้ใดละมากวางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มาก ผู้ใดวางได้น้อย
ละได้น้อยก็มีผลานิสงส์น้อย มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่นนี้หละคือความโลภ
ต้องสละเสียให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละไม่ใช่อื่นไกล
แปลว่าทะนุบำรุงตน เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านจะสำเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา
คือทานบารมี อันนี้นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องสะเบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้ว
เราจะเดินทางไกลเราก็ไม่ต้องกลัว อุปมาเหมือนกับเดินทางมาวัดนี้หละ ถ้าเราไม่ได้เตรียมอะไรมา
มันก็ไม่มี ถ้าเตรียมมาแล้วเราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยาก ของเก่าเราได้ทำมาไว้
ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำมาแล้วเราก็ไม่ได้ อยากได้สิ่งโน้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี่
เราไม่ได้ทำไว้ ไม่ได้สร้างไว้ อยากได้มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้วสร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้มันก็ได้
นี่หละทานบารมีเหตุนี้ให้พากันเข้าใจ

ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีลไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่าศีลนั่นเป็นของพระ ถ้าพระไม่ให้แล้ว
ก็ว่าเราไม่ได้ศีล อย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลำศีลแท้ที่จริงนั้นศีลของเราเกิดมา
พร้อมกับเรา ศีล 5 บริบูรณ์ตั้งแต่เกิดมา ขา 2 แขน 2 ศีรษะ 1 อันนี้คือตัวศีล 5 เราได้จากมารดา
ของเราเกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีล 5 บริสุทธิ์อย่างนี้ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ
รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อย อย่าไปกระทำโทษน้อยใหญ่ทางกาย
ทางวาจา ทางใจของเรา โทษ 5 คืออะไร คือ ปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทำนั่นเป็นโทษ
ไม่ใช่ศีล อทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษไม่ใช่ศีล กาเมสุมิจฉาจารา นั่นก็ไม่ใช่ศีลเป็นแต่โทษ
มุสาวาทา ท่านให้งดเว้นมันเป็นโทษไม่ใช่ศีล สุราเมรยมชฺชฯ อันนี้ก็เป็นแต่โทษ
ถ้าเราไม่ได้ทำความผิด 5 อย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในบ้านในช่องก็มีศีล
อยู่ในป่าในดงก็มีศีล อยู่ในรถในราเราก็มีศีลให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระนั้นไม่ใช่
ท่านก็บอกว่าอย่าไปทำ 5 อย่างนั้นให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้วอยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคน
บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีล 5 อย่างนั้นเราไม่อยากได้ไม่ปรารถนา เหตุฉันใดจึงว่าไม่อยากได้พิจารณาดูซี่
สมมติว่ามีคนมาฆ่าเราหรือมาฆ่าพี่ฆ่าน้องญาติพงษ์ของเรา เราดีใจไหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะ
เขาดีใจไหมพิจารณาดูซี่ เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นโทษของเราก็ไม่มี
เกิดมาอายุก็ยืนนาน ไม่ตายแต่น้อยแต่หนุ่มก็เพราะเราไม่ได้ทำปาณาติบาตไว้ในหลายภพหลายชาติ
แม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรมก็ฟังในชาตินี้แล้วก็ปฏิบัติในชาตินี้ในปัจจุบันนี้
เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต เรากำหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ก็เป็นศีลอยู่นี่ข้อสำคัญ

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ให้ละเว้นโทษที่เราไม่พึงปรารถนา เช่น อทินนาทานการขโมย
อย่างนี้หละ เขามาขโมยข้าวขโมยของขโมยเล็กขโมยน้อยของเราเราก็ไม่อยากได้ หรือโจรปล้น
สะดมอย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ท่านจึงให้ละ ถ้าเราไม่ได้ขโมยของใครไม่ว่าในภพใดภพหนึ่ง
เราก็ไม่ถูกโจรไม่ถูกขโมย ไม่มีร้ายไม่มีภัยอะไรสักอย่าง เราละเว้นแล้วโจรทั้งหลายก็ไม่มี
โจรน้ำ โจรไฟ โจรลมพายุพัดก็ไม่มี นี่เป็นอย่างนี้ กาเมก็เช่นเดียวกัน เกิดมามีสามีภรรยามีบุตร
ปรองดองกันอันเดียวกัน เกิดคนมาละเมิดอย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ว่ายากสอนยากหรือทะเลาะ
เบาะแว้งกันเราก็ไม่อยากได้ ถ้าเราละเว้นโทษกาเมนี้แล้วมันก็ไม่มีโทษหละ มุสาวาทาก็พึงละเว้น
มีคนมาฉ้อโกงหลอกลวงเราเราก็ไม่อยากได้คิดดูซี เราไปหลอกลวงฉ้อโกงเขาเขาก็ไม่อยากได้
เช่นเดียวกัน นี่หละพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ละเว้น มันเป็นโทษคนไม่ปราถนา ถ้าเรารักษาศีลนี้แล้ว
เราก็สบายไปไหนก็สบายซี่ไม่มีโทษเหล่านี้แล้ว สุราการมึนการเมาเราละกันแล้วเราก็ไม่อยากได้
ภรรยาขี้เมา สามีขี้เมา ลูกขี้เมา พ่อแม่พี่น้องขี้เมาเราก็ไม่อยากได้ เมื่อไม่มีเมาแล้วจะทะเลาะ
เบาะแว้งกันที่ไหนเล่า เกิดมากรรมให้โทษ เช่น คนเป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์เป็นลมบ้าหมู
เราก็ไม่อยากได้ หูหนวกตาบอดเป็นใบ้อย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ขี้ทูดกุดถังกระจอกงอกง่อยเป็นคน
ไม่มีสติปัญญาเราก็ไม่อยากได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ละเว้นโทษเหล่านี้ เมื่อเราทั้งหลายละเว้นแล้ว
เราไปไหนก็อยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย ฉะนี้เมื่อเราสมาทานศีล พระท่านจึงบอกว่า สีเลน สุคติ ยนฺติ
ผู้ละเว้นแล้วมีความสุข สีเลน โภคสมฺปทา เราก็มีโภคสมบัติไปในภพไหนก็ได้ ในปัจจุบันก็ดีเป็นคน
ไม่ทุกข์เป็นคนไม่จนด้วยอำนาจของศีลนี้ สีเลน นิพฺพุติ ยนฺติ จะไปพระนิพพานก็อาศัยศีลนี้เป็นต้น

ต่อไปนี้ให้ทำบุญโดยเข้าที่ภาวนานั่งดูบุญดูกุศลของเรา จิตใจมันเป็นยังไงดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อ
ย่าสักแต่ว่าสักแต่ทำ เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่ เราต้องการความสุขความสบาย
แล้วมันได้ตามต้องการไหม เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย
วางกายของเราให้สบาย วางท่าวางทางให้สง่าผ่าเผยยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกายเราสบายแล้ว
เราก็วางใจให้สบายรวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้วนึกถึงคุณพระพุทธเจ้า
อยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์อยู่ในใจ เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้วจึงให้นึกคำบริกรรม
ภาวนาว่า "พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ" 3 หนแล้วรวมเอาคำเดียวให้นึกว่า "พุทฺโธ พุทฺโธ" หลับตา
งับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็งดูตำแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน หูเราก็ไปฟังที่ระลึก
พุทโธนั่น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ จะดูทำไมเล่าดูเพื่อให้รู้ว่าตัวของเรานี่เป็นสุข
หรือเป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว จิตของเราอยู่ในกุศลหรืออกุศลก็ให้รู้จัก ถ้าจิตของเราเป็นกุศล
มันเป็นยังไง คือจิตมีความสงบมันไม่ส่งหน้าส่งหลังส่งซ้ายส่งขวาเบื้องบนเบื้องล่าง
ตั้งอยู่จำเพาะท่ามกลางผู้รู้ มันมีใจเยือกใจเย็นใจสุขใจสบาย จิตเบากายมันก็เบาไม่หนักไม่หน่วง
ไม่ง่วงไม่เหงา หายทุกข์หายยากหายความลำบากรำคาญสบายอกสบายใจ นั่นแหละตัวบุญ
ตัวกุศลแท้ นี้จะได้เป็นบุญเป็นวาสนาเป็นบารมีของเราเป็นนิสัยของเราติดตนนำตัวไปทุกภพทุกชาติ
นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิคือกุศล อกุศลเป็นยังไงคือจิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน
จิตดิ้นรนพะวักพะวง จิตทุกข์จิตยาก จิตไม่มีความสงบมันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่าอกุศล
ธรรมทั้งหลายกุศลธรรมอกุศลธรรมอันนี้เป็นกรรมในศาสนา ท่านว่ากรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในที่อื่น
กมฺมสฺสโกมฺหิ กรรมนั้นเป็นของๆ ตน กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ
เราทำกรรมอันใดไว้เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เราจะรู้ได้ยังไง
กุศลกรรม พิจารณาดูซี่กรรมทั้งหลายมันไม่ได้อยู่อื่น กายกรรม แน่ะ มันอยู่ในกายของเรานี้
มันเกิดจากกายของเรานี้ วจีกรรม มันเกิดจากวาจาของเรานี้ไม่ได้เกิดจากอื่นไกล มโนกรรม
มันเกิดจากดวงใจของเรานี้แหละให้รู้จักไว้ ต่อไปเราไม่ต้องสงสัยว่ากรรมมันมาจากไหน
ใครเป็นผู้ทำล่ะ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราเป็นผู้ทำเอาเอง ไม่ใช่เทวบุตรเทวดาทำให้ เราทำเอาเอง
ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละเราทำบุญ บุญอันนี้เป็นอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ คือเราให้ทานร้อยหนพันหน
ก็ตามอานิสงส์ไม่เท่าเรานั่งสมาธิ นี้มีผลานิสงส์เหมือนทำบุญอย่างที่สุดแล้ว"

ปัจฉิมบท


เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านได้เอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรม
วินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า "ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไป
อาศัยอยู่ในป่าขมิ้นจนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า
จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติศาสนาที่ได้ฟังพระธรรม
เทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่านและรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก"
คำพยากรณ์ของคุณย่าของท่านมิได้ผิดความจริงเลย เมตตาธรรมและคุณความดีของท่าน
เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์และบรรดาสาธุชนโดยทั่วไป

ความเมตตาของท่านพระอาจารย์แสดงออกตั้งแต่การให้ของเล็กๆ น้อยๆ หรือการยอมทำตาม
คำขอร้องง่ายๆ ขึ้นไปจนถึงการให้ของที่สำคัญๆ และการกระทำที่ยากๆ แม้จนกระทั่งสิ่งที่ท่านเอง
ไม่อยากกระทำ แต่ถ้าถึงขีดที่เป็นการผิดพระวินัย ท่านจะไม่ยอมเป็นอันขาด คุณหมออวยได้เล่าไว้
ในหนังสืออนุสรณ์งานศพพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ ตอนที่ 8 กรุณามหณณโว ความว่า
"ผู้เขียนเคยเห็นครั้งหนึ่งมีพระอธิการจากวัดหนึ่งในจังหวัดอื่น มาขออนุญาตทำของอะไรบางอย่าง
เกี่ยวกับตัวท่านเพื่อเอาไปให้เช่าหารายได้ปรับปรุงวัด พยายามอ้อนวอนเท่าไรๆ ท่านก็ไม่ยอม
เพราะท่านขัดข้องต่อการขาย

สัมภเวสี

ประสบการณ์จริงของหลวงพ่อเกี่ยวกับ "สัมภเวสี"

โดย หลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง

คำว่า "สัมภเวสี" ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ผีตายโหง"

สำหรับผีตายโหงนี้จะถือว่าเป็นสัมภเวสีเสมอไปก็ไม่ได้ เพราะบางรายเมื่อถึงเวลาจะต้องตายแบบนั้นตามกฎของกรรม เมื่อตายแล้วก็ไปรับสุขและรับทุกข์ตามอำนาจกฎของกรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่า "สัมภเวสี" ตายจากคนไปเกิดเลย เช่นเกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคน เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นพรหม หรือไปพระนิพพาน อาการตายแล้วไปพระนิพพานที่ตายแบบตายโหงก็มีมากราย

อย่างในสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ คนฟังเทศน์จบได้สำเร็จอรหัตผล

ตามธรรมดาพระองค์ตรัสว่า "เอหิ ภิกขุ" แปลว่า "เจ้าจงเป็นภิกษุมาเถิด" ผ้าไตรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์จะลอยมาในอากาศสวมตัวท่านผู้นั้นพอดี ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาต้องเคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนาในชาติก่อนๆ มาแล้ว สมัยนั้นพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นใหม่ๆ นักบวชก็ยังไม่ค่อยมากนัก ดังนั้นร้านขายผ้าไตรจีวรสำหรับพระจึงไม่มีเหมือนสมัยนี้ พระต้องลำบากในการหาผ้าใช้ ต้องไปเก็บผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาปะๆ ประกอบกันเข้าจากผืนเล็กมาเป็นผืนใหญ่ แล้วนำมานุ่งห่ม แต่ถ้าฟังเทศน์จบแล้วเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาแล้วว่าผู้นั้นไม่เคยถวายผ้าไตรจีวรไว้ในพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ทรงเป็น "สัพพัญญู" แปลว่า "รู้ทั้งหมด" ก็จะตรัสว่า "เมื่อเจ้าปรารถนาจะบวช จงไปหาผ้าไตรจีวรมา ถ้าได้ผ้าไตรจีวรมาแล้วเราจะบวชให้"

ปรากฏว่าในขณะที่ไปหาผ้าไตรจีวรขณะที่ร่างกายเป็นฆราวาสแต่ใจเป็นพระอรหันต์ ร่างกายที่มีความเลวอยู่มากไม่สามารถจะทรงความเป็นพระอรหันต์ไว้ได้ก็เลยต้องตาย

ทีนี้ถ้าจะป่วยตายก็ป่วยไม่ทันและก็ตายไม่ทัน ในที่สุดจึงต้องตายเพราะอุบัติเหตุ เช่นวัวขวิดตายบ้าง มีการกระทบกระทั่งอะไรตายบ้าง เป็นต้น

เรียกว่าการทรงความเป็นพระอรหันต์สำหรับฆราวาสไม่มี คนที่เป็นพระอรหันต์แล้วถ้ายังไม่ได้บวช อย่างช้าวันรุ่นขึ้นก็ตาย ไม่ใช่ ๗ วัน

สำหรับผู้ที่ตายไปแล้วเรียกกันว่าเป็น "สัมภเวสี" จะตายด้วยกรณีใดๆ ก็ตามแต่ยังไม่ครบอายุขัยที่จะตาย (อายุขัยของคนปัจจุบันอายุ ๗๕ ปี) เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรยังไม่ได้ หมายถึงจะไปลงนรกก็เข้านรกยังไม่ได้ จะไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม ก็ยังเป็นไม่ได้เพราะยังไม่ถึงเวลาจะไป ก็เลยต้องท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เดินไปเดินมาหิวโซ

พวกนี้ที่พวกหมอผีชอบเรียกเอาไปเลี้ยง เพราะว่าลำบากมีความหิว เมื่อมีใครมาชวนและนำไปเลี้ยงก็ต้องไป โดยคิดว่าทำงานให้เขาเพียงแค่กินอิ่มก็พอ จะเห็นว่าสภาพความรู้สึกของผีก็เหมือนคน เพราะผีก็คือจิตของคนที่เคลื่อนออกจากร่างกายเนื้อ สภาพความรู้สึกจึงเหมือนกันไม่แตกต่างจากของเดิม

นายเสนอ ตายจากคนไปเกิดเป็นสัมภเวสี

ดังตัวอย่างสัมภเวสีที่ไปพบมาเอง สัมภเวสีรายนี้สมัยเป็นมนุษย์
มีนามว่า "นายเสนอ" นามสกุลจำไม่ได้แล้ว เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี ตามปกตินายเสนอเป็นคนดีมาก เรียกว่าคนทั้งตำบลหรือหลายๆ ตำบลใกล้เคียงชอบใจ รักใคร่ เพราะนายเสนอเป็นคนดี ไม่เกเรไม่ใช่เป็นคนอันธพาล ดีในด้านสงเคราะห์ช่วยเหลือ จัดว่าเป็น สังคหวัตถุ นิยมในการสงเคราะห์ ใครจะมีงานมีการที่ไหนนายเสนอก็ไปที่นั่น เจ้าของงานก็ดีใจเพราะช่วยทำงานทุกอย่างถ้าไม่เกินความสามารถ พูดจาก็ดีเป็นที่รักของคนทั่วไป

วันหนึ่งที่วัดสารี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีงานประจำปี ในงานนั้นพวกนักเลงการพนันไปเล่นการพนันในวัด ก็มีเรื่องกัน นายเสนอก็วิ่งเข้าไปแล้วก็ยกมือไหว้คนนั้นทีไหว้คนนี้ที เรียกเขาว่าพี่ป้าน้าอาบอกว่า "ขอโทษเถอะเป็นงานวัด อย่าให้มีเรื่องเอะอะโวยวายเลย ท่านจะเล่นก็เล่นกันไป ถ้าหากไม่พอใจจะเล่น จะเลิกก็ตามใจไม่ได้ว่าอะไร" ก็พูดดีๆ ปรากฏว่าคนคุมบ่อนเป็นตำรวจ เขาโกรธที่ไปตักเตือนคนในบ่อนของเขา จึงเอาพานท้ายปืนยาวตีหน้าเข้าให้ นายเสนอล้มนอนหงายผลึ่งเกือบจะชัก พอลุกขึ้นมาได้ก็มีโทสะเลยชักมีดแทงตำรวจเข้าให้ ตำรวจก็ยิงปืนเข้าใส่ เลยต่างคนต่างตาย ปรากฏว่าศพของนายเสนอถูกประคับประคองอย่างดี ชาวบ้านทั้งตำบลและตำบลใกล้เคียงต่างจัดงานศพหรูหรา แต่ศพตำรวจไม่มีใครสนใจ เพราะชาวบ้านไม่มีใครแยแสปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นจนเน่า ปล่อยให้เหี้ยบ้าง ตะกวดบ้าง สุนัขบ้าง ทึ้งกันตามอัธยาศัย เครื่องแบบก็ไม่มีใครถอดให้ นานหลายวันกว่าทางการจะมาเอาไป

ผีนายเสนอออกอาละวาด
เมื่อนายเสนอตายแล้ว ก็มาแสดงตัวในฐานะที่เป็นสัมภเวสีให้ปรากฏบ่อยๆ มีหลายคนมารายงานให้ทราบว่า "ผีนายเสนอดุจริงๆ ลูกหลานไปทำงานหลังบ้านมาหลอกอยู่เสมอ" วันหนึ่งมีโอกาสไปที่ตำบลสารี จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะคุยกับเจ้าของบ้านอยู่ มีเด็กสาวๆ อายุ ๑๕-๑๖ ปีคนหนึ่งอยู่บ้านติดกัน ออกไปเก็บผักหลังบ้านมาทำอาหาร ประเดี๋ยวเดียวก็วิ่งเข้าบ้านมานอนร้องครวญครางดังมาก และเอามือกุมที่หน้าอก ใครถามว่า "เป็นอะไร" ก็ไม่ตอบ ตามธรรมดาผีที่ตายจะมาเข้าใคร ถ้าเป็นโรคอะไรก็จะแสดงอย่างนั้นให้รู้ หมายความว่าเวลาที่ตาย ทุกขเวทนาครอบงำมากอย่างไหนก็จะแสดงให้ปรากฏอย่างนั้น เช่นคนขาเป๋ตายแล้ว เวลามาเข้าคนก็จะแสดงอาการขาเป๋ หรือก่อนจะตายแขนคอก ตายแล้วก็มาทำท่าแขนคอก แต่ความจริงพอตายแล้วเป็นผี ขาไม่ได้เป๋ แขนไม่ได้คอก

เด็กสาวคนนี้ร้องครวญคราง พวกผู้ใหญ่จึงไปนิมนต์อาตมามาดู ก็ไปนั่งข้างๆ เด็กคนนั้นแล้วถามว่า "อีหนูเป็นอะไร" ก็ไม่ตอบมองหน้าเฉยๆ แล้วก็ร้อง เห็นนายเสนอนั่งข้างๆ เด็กคนนั้นแล้วเอานิ้วจี้ที่ตรงเด็กบอกว่าปวด ก็คือตรงอกที่เดียวกับที่นายเสนอถูกยิงพอดี ท่านก็เลยพูดดังๆ ว่า "เหนอไปทำอะไรหลาน มีเรื่องอะไรก็ไปคุยกันที่บ้านโน้น อย่ามายุ่งกับเด็กมันเลย ไปด้วยกันเดี๋ยวนี้นะ" นายเสนอก็ปล่อยมือ เด็กคนนั้นก็หายปวด ลุกขึ้นทำงานได้เป็นปกติ ถามเธอว่า "เป็นอะไร" เธอตอบว่า "ไม่รู้ มันเจ็บทะลุหลัง" ก็เพราะนายเสนอถูกยิงทะลุหลัง แล้วก็เดินมาบ้านหลังที่ท่านพัก

ถามนายเสนอว่า "เอ็งไปทรมานหลานทำไม" เขาตอบว่า "ไม่ได้ทรมาน ผมแสดงแบบนี้ที่ใครเขาลือกัน มีคนไปฟ้องท่านหลายคนแล้ว ผมก็รู้ เขาหาว่าผมดุร้ายมากเที่ยวหลอกคนนั้นหลอกคนนี้ ความจริงผมไม่ได้ตั้งใจจะหลอกคน ทุกคนที่ผมแสดงให้ปรากฏเป็นคนที่ชอบกันอยู่ก่อนทั้งนั้น รักกันมากเคยช่วยงานเขา และเขาเคยปวารณาว่า มีอะไรให้ช่วยเหลือก็บอกเขาจะทำให้เต็มที่ แต่ทว่าเวลานี้ผมต้องการความช่วยเหลือขอรับ" ถามว่า "เอ็งตายแล้ว เอ็งไปไหน เอ็งไปนรกหรือไปสวรรค์"

เขาตอบว่า "ไม่ได้ไปนรก ไม่ได้ไปสวรรค์ เวลาเหลืออีก ๔๓ ปีจึงจะไปได้ นับปีมนุษย์ระยะเวลา ๔๓ ปี นี่ผมลำบากมากต้องเดินไปเดินมา ผลบุญใดๆ ที่ทำไว้ก็ยังไม่ปรากฏ ยังกินไม่ได้เพราะยังไม่ถึงเวลาจะได้รับ ส่วนผลบาปที่ทำไว้ก็ยังไม่ให้ผล เวลานี้ผมต้องเป็นผีเดินไปเดินมาเข้าไปหาคน เพื่อหวังจะให้เขาสงเคราะห์ช่วยเหลือ แต่เขาก็หาว่าผมไปหลอกเขา บางทีเขาก็สาปแช่งเอาบ้าง ความรู้สึกของคนกับผีไม่เหมือนกัน เวลาที่ผมยังไม่ตายเขาก็รักผมมาก ดีกับผมทุกอย่าง ทุกคนปวารณาตัวจะช่วยผมเวลาผมทำงานให้เขาอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย แต่เวลาผมตายไปแล้ว ไม่มีใครสนใจผมเลย"

ก็เลยบอกว่า "ก็เอ็งเป็นผีนี่เขาก็กลัว เวลาเอ็งไปแสดงตัวให้ปรากฏเอ็งทำอย่างไรบ้าง" เขาตอบว่า "ส่วนใหญ่ไม่ได้หลอก ผีไม่มีเวลาจะหลอกคน เพราะมีความลำบากอยู่แล้ว ผมมาแสดงตัวให้ปรากฏเป็นเงาบ้าง เป็นเสียงบ้าง บางคนก็เห็นชัดหน่อย บางคนก็เห็นไม่ชัด ผมก็ประกาศว่าตัวผมคือนายเสนอ พอบอกได้เท่านั้น ทุกคนพอฟังแล้วก็วิ่งหนี ถ้าอยู่ในบ้านก็นอนคลุมโปงกัน และบางบ้านก็บอกว่า ขอให้ไปที่ชอบๆ เถอะ บางบ้านก็แช่งชักหักกระดูกเลย ผมก็เสียใจไม่มีใครจะช่วยผมจริงๆ"

ฟังแล้วก็เห็นใจ เพราะทราบจากพระพุทธเจ้าแล้วว่า ผีไม่มีไร่ไม่มีนา ไม่มีการค้าขาย ไม่มีอาชีพใดๆ ถ้าบุญเก่าไม่ส่งผลก็ต้องอาศัยบุญใหม่ที่คนมีชีวิตอยู่ส่งไปให้ และก็ต้องส่งเป็น ถ้าส่งไม่เป็นส่งเท่าไรก็ไม่มีผล ก็เลยถามต่อว่า "เอ็งต้องการอะไรล่ะ" นายเสนอก็บอกว่า "เวลานี้ผมลำบากมาก หนาวก็หนาว หิวก็หิว กำลังก็ไม่มี สิ่งที่ผมต้องการก็คือ ต้องการพระพุทธรูปหน้าตัก ๕ นิ้วสักองค์หนึ่ง ผ้าไตรจีวร ๑ ไตร และอาหารอีกชุดหนึ่ง อะไรก็ได้ไม่จำกัด" ถามว่า "จะให้ทำอย่างไร" ตอบว่า "นิมนต์พระมาแล้วถวายเป็นสังฆทาน" ก็ถามต่อว่า "ถ้าทำได้ตามที่บอกมา ผลจะพึงมีกับเอ็งอย่างไร" ตอบว่า

อานิสงส์ของการถวายสังฆทาน


๑) พระพุทธรูป ถ้าผมโมทนาแล้วกำลังจะดีมาก ถ้าเป็นเทวดาก็มีศักดิ์ศรีใหญ่ มีรัศมีกายสว่างมาก

๒) ผ้าไตรจีวร ถ้าโมทนาแล้ว จะมีเครื่องประดับเป็นทิพย์

๓) อาหาร ข้าวและนํ้านี้ เมื่อโมทนาแล้วจะมีกำลัง ร่างกายจะมีแรงมากและมีความเบายิ่งขึ้น

จึงบอกว่า "ตั้งใจจะช่วยอยู่แล้ว เวลาเขาทำบุญให้แล้ว จะให้ทำอย่างไรอีก"

ตอบว่า "เมื่อพระรับสังฆทานเสร็จ เวลาอุทิศส่วนกุศล ขอให้คนที่ทำบุญส่งผลเฉพาะให้แก่ผมคนเดียว อย่าให้แก่คนอื่น เพราะพวกสัมภเวสีที่มีความลำบากมีอยู่มาก มีกรรมยังหนักอยู่ เป็นกรรมในระหว่างที่ต้องถูกทรมาน ถ้าเฉลี่ยให้คนอื่นพวกสัมภเวสีก็ไม่ได้รับ แต่ถ้าไม่เฉลี่ยให้แก่คนอื่น พวกสัมภเวสีจะได้รับสมบูรณ์บริบูรณ์ การอุทิศส่วนกุศลต้องว่าเป็นภาษาไทยตรงๆ ให้เฉพาะเจาะจง"

ก็เลยบอกว่า "ตกลง วันพรุ่งนี้ค่อยมารับนะ" นายเสนอถามว่า "แล้วท่านจะบอกใครเขาทัน" ตอบว่า "บุญนี้ข้าจะทำเอง ไม่ต้องการไปรบกวนคนอื่น แต่จะบอกเขาเหมือนกัน เขาจะให้หรือไม่ให้ก็ช่างเขา ประเดี๋ยวเอ็งกลับไปเข้าเด็กคนนั้นอีกนะ แต่อย่าไปทำให้เขาเจ็บร้องครวญคราง ไปเข้าเฉยๆ เดี๋ยวชาวบ้านเขาสงสารเด็กจะด่าเอา และก็แสดงตัวให้ปรากฏว่าเป็นเอ็ง" ถามว่า "เด็กคนนั้นร้องลิเกเป็นไหม" ตอบว่า "ไม่เป็นขอรับ" จึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นดีแล้ว เอ็งเป็นลิเกอยู่ก่อนมีชื่อเสียงมาก ไปเข้าก็แสดงท่าเป็นเอ็งแล้วก็ร้องลิเกไปด้วย บอกบทเล่าเรื่องราวของเอ็งไปด้วย ทำให้ชาวบ้านเห็นเป็นสนุก" นายเสนอก็รับคำแล้วถามว่า "เมื่อไร" ตอบว่า "ไปเดี๋ยวนี้เลย จะได้พูดให้ชาวบ้านเขาได้รู้เรื่อง"

ต่อมาชาวบ้านรู้เรื่องนายเสนอจากการร้องลิเกว่าตายเพราะอะไร เวลานี้มีความทุกข์เป็นประการใดบ้าง ไปหาใครบ้าง ใครแช่งด่าบ้างก็บอกชื่อหมด ร้องเพราะเสียด้วย ชาวบ้านฟังแล้วชอบใจ นำมาเล่าให้ฟัง จึงบอกว่า "นายเสนอต้องการอะไรบ้างให้ชาวบ้านฟัง" และบอกนายเสนอว่า "พรุ่งนี้จะถวายสังฆทานให้ตอนในเพล เอ็งมาโมทนานะ เวลาโมทนาแล้วถ้าได้บุญจริงๆ แล้ว เวลากลางคืนเอ็งไปที่บ้านคนที่เขาช่วยร่วมบุญร่วมกุศลในวันพรุ่งนี้ ให้เขาเห็นทุกคนและส่งกลิ่นหอมให้ปรากฏทั้งบ้าน" เขาก็รับคำ

พอรุ่งขึ้นเช้าก็บอกบุญว่า "ใครจะร่วมบ้าง ร่วมเท่าไรก็ได้หรือใครไม่ร่วมฉันก็ทำคนเดียว เพราะนายเสนอมีความดีกับฉันมาก ช่วยกิจการงานทุกอย่าง เขาไม่เคยรังเกียจ เมื่อบอกแล้วก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจจริงๆ ไม่เคยท้อถอย"

การอุทิศส่วนกุศล
ในที่สุดชาวบ้านก็มารวมตัวกัน บอกเขาเวลาบ่ายพอตอนเช้าได้ผ้าไตร ๕ ไตร พระพุทธรูป ๕ องค์ อาหารเต็มบ้านไปหมด ตั้งใจจะนิมนต์พระมาถวายสังฆทานองค์เดียวเป็นผู้แทนสงฆ์ ตอนสายๆ อาหารมาเต็มบ้าน ก็เลยต้องไปนิมนต์พระมาหมดวัด วัดอยู่ไม่ไกลนัก พระมี ๒๒ หรือ ๒๓ องค์ เป็นสังฆทานเต็มที่ ผ้าไตรไม่พอเลยให้คนไปซื้อผ้าสบง ผ้าห่มและผ้าเช็ดตัวมาให้พอกับพระที่เหลือ เวลาที่เขากำลังจัดงานกัน เห็นนายเสนอมาช่วยงาน เวลาเขาจะปัดจะกวาด จะปูเสื่อ จะวางหมอน ก็มาช่วยเขาทำวุ่นไปหมด แต่ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น เมื่อถวายสังฆทานพระเสร็จ ก็อุทิศส่วนกุศลบอกว่า

"ผลบุญที่ทำแล้วในวันนี้ มีการบูชาพระรัตนตรัยก็ดี สมาทานศีลก็ดี ถวายพระพุทธรูปเป็นของสงฆ์ก็ดี ถวายผ้าไตรจีวรแก่คณะสงฆ์ก็ดี ถวายภัตตาหารก็ดี ผลบุญทั้งหลายนี้ข้าพเจ้าจะพึงมีเพียงใด ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่นายเสนอ ขอนายเสนอจงมาโมทนาและได้รับส่วนกุศลผลความดีเช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ บัดนี้เถิด"

นายเสนอโมทนาแล้วก็ยังไม่ไป นั่งยิ้มหน้าตาสวย ถามว่า "เหนอ เอ็งมารับหรือเปล่า ถ้ามารับก็แสดงอาการให้ปรากฏ ส่งกลิ่นให้ปรากฏแต่ไม่ใช่กลิ่นผีนะ เป็นกลิ่นปกติสมัยนี้ของเอ็ง" พอพูดจบทุกคนได้กลิ่นหอมฟุ้งโดยไม่ต้องสูด หอมจริงๆ ส่งกลิ่นฟุ้งไปหมด หมู่บ้านนั้นทั้งหมู่บ้านมีประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน ไกลออกไปกระทั่งหลังบ้านยังได้กลิ่น ทุกคนก็ดีใจ ชักใจกล้าอยากเห็นนายเสนอว่ามีรูปร่างหน้าตาเวลานี้เป็นอย่างไร และขอให้ไปเข้าฝันให้เห็นตอนกลางคืน

ถามว่า "ทำได้ไหม" เขาตอบว่า "ทุกคนเวลาจะนอน ให้ภาวนาว่า พุทโธ ทำใจสบาย เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วจะเห็นง่าย คือให้เห็นในฝันง่าย"

ก็บอกชาวบ้านทำตามที่นายเสนอบอก ทุกคนอยากเห็นก็ตั้งใจทำตามนั้นกัน

พอรุ่งเช้าทุกคนมาพูดให้ฟังเหมือนกันว่า "เมื่อคืนผีนายเสนอมาหาและคุยด้วย รูปร่างหน้าตาสวยจริงๆ ไม่เหมือนเก่า เครื่องประดับประดาสวยสดงดงาม"

แสดงว่า นายเสนอเป็นผีกึ่งเทวดาเข้าให้แล้ว และก็พร้อมที่จะเคลื่อนไปสู่วิมานใดวิมานหนึ่งอันเป็นสมบัติของตน เพราะเคยช่วยสร้างโบสถ์ช่วยสร้างศาลา.."

หลวงปู่ดู่ กับ หลวงปู่บรมครู พระครูเทพโลกอุดร




หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นพระอริยสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่เคยพบ หลวงปู่บรมครู พระครูธรรมเทพโลกอุดร
ดังที่คุณวิรัตน์ โรจนจินดาได้บันทึกไว้ดังนี้

“เหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงที่ข้าพเจ้า เริ่มตระเวณหา ครูบาอาจารย์ ตามวัดต่างๆ ตามคำแนะนำของผู้ปฏิบัตธรรม วันหนึ่งข้าพเจ้าได้เดินทางไปกราบหลวงปู่ดู่ ที่วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อไปถึงนั้นเป็นเวลา 4 โมงเย็น ข้าพเจ้าได้ไปถามเด็กวัดว่า กุฏิหลวงปู่ดู่ อยู่ทางไหน เด็กคนนั้นก็พาข้าพเจ้าไปจนพบตัวท่าน ขณะท่านกำลังอยู่ที่ศาลาริมน้ำ ข้าพเจ้าเข้าไปกราบเท้าท่าน ท่านก็เมตตาและถามว่ามาจากที่ไหน ข้าพเจ้าก็กราบเรียนถามท่านว่า มาจากกรุงเทพฯ ครับ แล้วท่านก็นั่งหลับตาอยู่นานสองนาน จนข้าพเจ้าคิดไปต่างๆ นานาว่าท่านคงไม่สบาย เวลาผ่านไปนานพอสมควร พอท่านลืมตาขึ้นข้าพเจ้าก็รีบถามท่านทันทีว่า หลวงปู่ไม่ลบายหรือเปล่า หลานจะไปซื้อยามาถวาย ท่านก็ตอบข้าพเจ้าว่า “ฉันกำลังคุยกับหลวงพ่อเกษมที่ลำปางอยู่ จึงไม่ได้พูดคุยกับเธอ”

เหตุการณ์ครั้งนั้นข้าพเจ้าแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า หลวงปู่ดู่ ท่านอยู่ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะสามารถส่งกระแสจิต ติดต่อกับหลวงพ่อเกษมที่จังหวัดลำปางได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ จิตใจก็เกิดปรามาสท่าน เพราะขณะนั้นข้าพเจ้ายังไม่แตกฉานในเรื่องธรรมะ ภายหลังต่อมาข้าพเจ้าได้เริ่ม ปฏิบัติพระกรรมฐาน เริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจึงได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ท่านคือ พระสุปฏิปันโนรูปหนึ่ง ข้าพเจ้าจึงได้กลับไปที่วัดสะแก อีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องสักการะ เพื่อขอขมาลาโทษ ที่ได้เคยล่วงเกินด้วย กาย วาจา หรือใจก็ตาม ท่านก็เมตตาให้โอวาทและอบรมสั่งสอนธรรมะแก่ข้าพเจ้านับแต่นั้นมา

จากนั้น ข้าพเจ้าก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน ท่านไดสอนวิปัสสนากรรมฐานจนข้าพเจ้าพอได้รู้ ได้เห็นบ้างตามสมควร ทำให้ข้าพเจ้าทราบว่า พระสุปฎิปันโนนั้นสภาวะจิต สภาวะธรรมของท่านละเอียดอ่อน สามารถติดต่อถึงกันได้ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนก็ตาม

หลังจากนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้คอยรับใช้ท่านอยู่หลายปี ท่านมีเมตตาเล่าเรื่องหลวงปู่ใหญ่ให้ข้าพเจ้าฟังว่า สมัยที่ท่านออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรนั้น วันหนึ่งในฤดูหนาวท่านเดินทางไปถึงดงพญาเย็น แล้วเกิดเป็นไข้มาลาเรียอยู่ท่านกลางป่าดงดิบ ท่านคิดว่าคงจะไม่รอดชีวิตแน่แล้ว แต่จู่ๆ ก็มีพระรูปร่างสูงใหญ่องค์หนึ่งเอายาเม็ดกลมๆ ปั้นเหมือนลูกกลอนมาให้ท่านฉัน 2 เม็ด เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ปรากฎว่าอาการไข้กลับทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ พอท่านหายพระรูปร่างสูงใหญ่องค์นั้นก็จากไป โดยที่ท่านไม่ทราบว่า พระองค์นั้นชื่ออะไร ภายหลังที่ท่านกลับมาอยุธยา ได้เล่าเรื่องทั้งหมดให้ หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อาจารย์ของท่านฟัง หลวงพ่อกลั่นหัวเราะแล้วบอกว่า พระรูปร่างสูงใหญ่องค์นี้ ท่านเป็นพระหลายยุค หลายสมัย ท่านเข้ามาเผยแผ่ พระไตรปิฎกในสุวรรณภูมิ คอยค้ำชูบวรพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ไม่ให้ตกต่ำจนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริย์ พระภิกษุ สามเณร สมณชีพราหมณ์ อุบาสก อุบาสิกา ท่านใดได้พบเห็น ไม่ว่าจะเป็นการทิพย์ หรือ กายเนื้อ ถือเป็นมงคลอันสูงสุด

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ท่านเป็นหน่อพุทธภูมิที่จุติลงมาเพื่อค้ำชูพระพุทธศาสนา ท่านเพียรสั่งสอนอบรมเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านให้ปฎิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อมิให้ตกไปสู่อบายภูมิ หลังจากละสังขารไปจากโลกนี้แล้ว

ข้าพเจ้าได้พบเห็นบารมี ในทางธรรมของท่าน สมัยที่ข้าพเจ้าไปรับใช้ท่านอยู่ เมื่อครั้งท่านสร้างพระสมเด็จ ลักษณะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่เหนือสุดของพระพรหม วิธีการสร้างของท่านนั้น ท่านแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาด้วยตัวของท่านเอง รวมทั้งท่านทำผงวิเศษเอง มีตระไคร่โบสถ์ ผลนะปัด ตลอดซึ่งท่านสำเร็จวิชานะปัดตลอดมาจากครูบาอาจารย์ของท่าน ซึ่งวิธีการนั้น ทำได้โดยใช้ชอล์คเขียนอักขระ เลขยันต์ลงบนกระดานชนวน เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็ใช้มือลูบเบาๆ ที่อักขระ เลขยันต์นั้น ผงวิเศษก็จะทะลุกระดาษชนวนลงไปในบาตร จากนั้นนำผงวิเศษนี้ไปผสมกับปูนขาว ปั๊มออกมาเป็นพระสมเด็จตามต้องการ

พระที่หลวงปู่สร้างไว้รุ่นแรกๆ นี้ วิธีการอธิษฐานจิตของท่านเป็นเรื่องแปลกมหัศจรรย์ และเล่าขานสืบต่อมาดังนี้

ท่านจะนำพระที่สร้างไว้แล้ว เข้าไปไว้หน้าพระประธานในโบสถ์ โยงสายสิญจ์จากโบสถ์มาที่กุฎิของท่าน แล้วปิดหน้าต่างทุกบานรวมทั้งประตูโบสถ์ก็ล็อคกุญแจเรียบร้อย วันนั้นเป็นวันอาสาฬหบูชา เมื่อพระภิกษุ สามเณร สมณชีพราหมณ์ และอุบาสิกาที่ไปปฏิบัติธรรมกับท่าน ทำวัตรเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วท่านก็กล่าวว่า

“วันนี้เป็นวันดี ฉันจะเชิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสาวกทุกพระองค์ และครูบาอาจารย์ของฉันมี หลวงปู่บรมครู พระครูธรรมเทพโลกอุดร หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ มาร่วมอธิษฐานจิตในเวลาสองยามของค่ำคืนนี้ ขอให้ทุกคนจงร่วมจิตอธิษฐานด้วย”

พอได้เวลาสองยาม ท่านก็นั่งลงจุด ธูป เทียน สักการะบูชา องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าและท่านเองก็นั่งสมาธิอธิษฐานจิตพระเครื่องของท่านด้วย

และแล้วสิ่งมหัศจรรย์เหลือเชื่อก็บังเกิดขึ้น เหล่าบรรดาพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ตลอดจน สมณชีพราหมณ์ ที่นั่งอยู่ในนั้น ต่างได้ยินเสียงสวดมนต์ดังออกมาจากโบสถ์ ซึ่งปิดสนิทหมดทุกด้าน และไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย !!!

พระเครื่องของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ รุ่นนี้ ผู้ใดได้ไว้สักการะบูชา พร้อมทั้งปฏิบัติตนอยู่ในศีล ในธรรม มีกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ ก็บังเกิดพระธาตุเสด็จมาที่องค์พระนั้นเป็นที่อัศจรรย์..




คัดลอกจากหนังสือ ตามรอยหลวงปู่ใหญ่ พ.ศ.2549 โดยคุณพรหมินทร์ อึ้งสกุลรัตน์

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม เพื่อปิดประตูสู่อบายภูมิ


การเจริญสติอยู่เป็นนิจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปิดประตูสู่อบายภูมิ การได้ท่องธัมมะภาวนาเป็นนิจ ก็เป็นเหตุให้จิตเกิดสติ การเกิดสติ ก็คือรู้ละความยินดียินร้าย การรู้ปล่อยวาง การละกิเลสกาม การรู้ละอัตตาอคติ รู้ละความพอใจหรือความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ รวมเรียกว่าบาปอกุศลจิต สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดจิตเศร้าหมองเกิดความฟุ้งซ่านความทุกข์ใจ จึงเป็นเหตุให้ไปสู่อบายภูมิ อกุศลจิตเป็นรากเง้าให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ตามมาเพราะอกุศลจิตเป็นเหตุ จัดเป็นทุจริตธรรม

ผู้ใดยังไม่คิดจะเจริญสติ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท ฉะนั้นผู้ประมาทจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตายเสียแล้ว คือตายเสียจากคุณงามความดี หรือประโยชน์อันพึงจะได้รับผลในชาตินี้ จากกุศลจิตอันเป็นเหตุนำไปสู่สุคติภูมิ และยังเป็นเหตุให้เกิดความสุข มีสุขชาตินี้ และสุขชาติหน้า

ดังคำกลอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้กล่าวไว้ว่า

ใครจะดี...ใครจะชั่ว...ก็ตัวเขา...ใจของเรา...เพียรระวัง...ตั้งถนอม...อย่าให้บาป...อกุศล...วนมาตอม...ควรถึงพร้อม...บุญกุศล...ผลสบาย.

เพราะฉะนั้นจึงควรท่องธัมมะภาวนากันไว้ในใจของตนอยู่เสมอๆ เพื่อให้จิตเกิดความรู้ตัวคือสัมปชัญญะ จะทำให้มีสติ รู้ละอกุศลจิต อกุศลเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิ การเจริญสติ เป็นเหตุให้จิตรู้ปล่อยวางในอกุศลจิต จึงเกิดเป็นบุญกุศลจิต จิตที่เป็นบุญกุศลจึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทำดี พูดดี คิดดี ที่เรียกว่าการประพฤติสุจริตธรรม จัดเป็นผู้มีอธิศีล จิตที่มีความสงบนิ่งจัดเป็นผู้มีอธิจิต จิตที่เกิดตาปัญญารู้ในสภาวธรรมจัดเป็นผู้มีอธิปัญญา ทำให้มีความสงบสุขเกิดอยู่ในใจ อันเป็นเหตุนำไปสู่สุคติภูมิ มีสันติสุขเป็นที่หมาย ดังนี้.

คำไว้ท่องธัมมะภาวนามีอยู่ว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” เพื่อให้มีความรู้ตัว(คือสัมปชัญญะ) อันเป็นเหตุให้เกิดสติ(คือการระลึกได้) ถอนความเป็นบาปอกุศลจิตออกจากใจ นี่คืออุบายในการเจริญสติปัฏฐานสี่

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม รุ่น 2


หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม


 ของแท้แน่นอนครับ





หลวงตาแตงอ่อน  กัลยาณธัมโม เป็นลูกศิษย์ ของพระอาจารย์อาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รายชื่อ พระอริยสงฆ์สายหลวงปู่มั่นที่หลวงตามหาบัวรับรอง


ต้องการให้เช่า  1.999  บาท

โทร 087-2250463 ต้นครับ

เหรียญอาจารย์ฝั้น อาจาโร ปี 2518


เหรียญพระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร ของแท้แน่นอนครับ






เหรียญพระอาจาร ฝั้น อาจาโร เหรียญกลมเกือบเท่าเหรียญบาท


ต้องการให้เช่า ราคา 49.999 บาท ครับ

โทร 0872250463 ต้นครับ

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พุทธศาสนาสุภาษิต

พุทธศาสนาสุภาษิต


ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อารา โส อาสวกฺขยา.

คนที่เห็นแต่โทษผู้อื่น คอยแต่เพ่งโทษนั้น
อาสวะก็เพิ่มพูน เขายังไกลจากความสิ้นอาสวะ.

อธิบาย คนที่เห็นแต่โทษของคนอื่น และคอยแต่เพ่งโทษคนอื่นนั้น ก็เพราะจิตมีแต่ความเป็นอกุศลจิต ที่เกิดจากอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นเหตุ ความรู้สึกยินดียินร้ายก็คือกิเลสกามหรืออาสวะกิเลส เป็นเหตุให้เกิดอัตตาอคติมี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเจ้าเรือน จึงทำให้เกิดอาสวะเพิ่มพูนมากขึ้น และเป็นเหตุให้ห่างไกลจากความสิ้นอาสวะ หมายถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์ หรือวัฏฏะสงสาร

โลกของสื่อรับรู้ในปัจจุบัน ที่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่เรียกว่าวัตถุแห่งกาม เป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ หรือความรู้สึกยินดียินร้ายที่เป็นเหตุให้เกิดกิเลสกาม ได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ลืมตาตื่นมาจนกระทั้งนอนหลับไป ไม่มีทางหนีสิ่งเหล่านี้ไปได้เลย เพราะเราต้องอยู่กับการเสพคุ้นกับมันอยู่ตลอดเวลาในชีวิตนี้

เว้นไว้แต่การเป็นผู้ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดสติ รู้ปล่อยวางในอารมณ์หรือความรู้สึกยินดียินร้ายที่เป็นกิเลสกามหรืออกุศลจิตได้แล้ว เราจึงจะไม่หลงไปกับอาสวะกิเลส และเราจะไม่เกิดการเพ่งโทษผู้อื่นด้วยอัตตาอคติจิต และไม่สะสมอาสวะกิเลสเป็น อโลภะ อโทสะ อโมหะ ใจของเราก็จะเบาบางจาก โลภะ โทสะ โมหะ เราจึงสามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง
คนเราจึงควรมีการประพฤติปฏิบัติธรรมไว้บ้าง ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา ด้วยการหมั่นท่องธัมมะภาวนาไว้ว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” อยู่เสมอๆในใจตลอดเวลาเพื่อสะสมความรู้ตัวให้กับใจของเรา ใจของเราก็จะเกิดความรู้ตัวหรือตัวรู้ อันเป็นเหตุให้ใจของเราเกิดสติ รู้ปล่อยวางในอารมณ์ความรู้สึกยินดียินร้ายได้เองโดยอัตโนมัติ ใจของเราก็จะเป็นกุศลธรรมเป็นบุญ คือความสบายใจ ใจของเราก็จะพบกับสันติสุขมีความสงบนิ่งเป็นจิตว่าง ก็จะเป็นเหตุให้ใจของเราสิ้นอาสวะได้ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

จงอย่าเป็นคนประมาท

จงอย่าเป็นคนประมาท เพราะคนประมาทได้ชื่อว่าตายเสียแล้ว


คนทุกวันนี้มีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้ประมาทเป็นเสียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องการปฏิบัติธรรมในด้านจิตตะภาวนา มองเรื่องการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของคนแก่บ้าง หรือคนไม่มีอะไรจะทำบ้าง หรือคนที่สิ้นหวังในชีวิตทางโลกบ้าง หรืออ้างว่าไม่มีเวลาที่จะมาปฏิบัติธรรมบ้าง หรือคิดว่ารอให้มั่งมีเสียก่อนแล้วจึงมา การคิดการมองเช่นนั้นจัดเป็นคนประมาท และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ตายเสียแล้ว คือตายเสียจากความดีที่ควรจะได้ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่จะต้องเข้าไปอาศัยสถานที่ป่าเขาลำนำไพรที่สงัดสงบวิเวก หรือในวัดวาอารามอย่างเดียว ในการปฏิบัติธรรม ในชีวิตประจำวันของเราก็ปฏิบัติธรรมได้ เพราะการปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นมุ่งเอาฌานเพื่อข่มกิเลส นั้นเป็นการปฏิบัติธรรมในรูปแบบ “เจโตสมาธิ” จึงต้องอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นองค์ประกอบในการปฏิบัติธรรม รูปแบบเจโตสมาธินี้ ยังต้องอาศัยอุปนิสัยเดิม ในอดีตชาติที่เคยเป็นโยคีฤษีชีไพรจึงจะทำได้ดี คนทั่วไปจะทำได้ยากมากๆ และไม่เหมาะกับการเป็นอยู่ของคนที่ยังต้องอยู่ในโลก

การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือมุ่งหมาย ในการระงับกิเลสกามคือความอยาก ละบาปอกุศลคือความเศร้าหมองไม่ให้เกิดขึ้นในจิตตะสันดานของเรา เพราะอกุศลคือรากเหง่าของความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นสาเหตุให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นจนเป็นทุกข์ และเพื่อให้จิตเป็นบุญคือความสบายใจ ให้จิตเป็นกุศลคือความขาวสะอาดมีความผ่องใส การปฏิบัติธรรมสามารถทำได้ในทุกโอกาส ทุกสถานที่ เพียงมีความเพียรในการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจของตนอยู่เสมอๆ ในชีวิตประจำวันว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” การท่องเอาไว้เสมอๆจะทำให้เกิดความรู้ตัวในจิตใต้สำนึก อันเป็นเหตุให้มีสติ ถอนความรู้สึกยินดียินร้ายในโลกออกเสียได้ ถอนความคิดว่าร้ายใครๆในโลกออกเสียได ถอนความคิดพยาบาทมุ่งปองร้ายใครๆในโลกออกเสียได้ จิตของเราก็จะมีความสงบสุขเป็นอธิจิต(จัดเป็นสมถะกรรมฐาน) มีสติในการพูดจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เป็นอธิศีล มีตาปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งเห็นแจ้งในสภาวธรรมต่างๆ เป็นอธิปัญญา(จัดเป็นวิปัสสนากรรมฐาน) ผู้ปฏิบัติธรรมจัดเป็นผู้ไม่ประมาท และเป็นผู้ไม่ตายเสียจากความดีที่ควรจะได้ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมในรูปแบบปัญญาสมาธิ คือการมีธัมมะอบรมจิตของตนให้สงบ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง



ความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นอัตตา

ความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นอัตตา รู้ปล่อยวางเสียได้จะเข้าใจในอนัตตา


ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ก่อให้เกิดอัตตาอยู่เสมอๆ ก็เพราะเราอยู่ในโลกของการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์การนึกคิดปรุงแต่งจิต ด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายตลอดเวลา จึงทำให้เกิดเป็นอัตตาอยู่ในใจ ทีละเล็กทีละน้อยสะสมไว้ในใจ ที่เรียกว่าอนุสัยกิเลส หรือตะกอนนอนเนื่องในจิตใต้สำนึก จึงทำให้เรามักยึดถือ หรือยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่รู้ทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์ ด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายอยู่เสมอๆ เพราะความรู้สึกยินดียินร้าย จึงทำให้จิตส่งออกไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งรับรู้ทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย มานึกคิดปรุงแต่งอยู่เสมอๆทำให้เกิดอัตตา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ตามมา

ถ้าเราได้ฝึกจิตของเราให้รู้ปล่อยวางเสีย ไม่เกิดยินดียินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตของเราก็จะไม่ส่งออกไปยึดมั่นถือมั่น ให้เกิดอัตตา จิตของเราก็จะเกิดความสงบนิ่ง เกิดตาปัญญารู้พิจารณาขึ้นมาเองในใจว่า ก็เพราะจิตของเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นด้วยอัตตา ต่อสิ่งที่มีอยู่คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่เรารับรู้อยู่ล้วนเป็นอนัตตา เพราะไม่มีอัตตาไปยึดมั่นถือมั่น มันก็คืออนัตตานั้นนั่นเอง ดังมีกล่าวไว้ใน ติลักขณาทิคาถาว่า “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด”

พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมอยู่เสมอในที่ต่างๆว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ในขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เมื่อเป็นทุกข์ควรหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นใน ขันธ์ ๕ นั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นรูปขันธ์ ในขันธ์ ๕ ที่เราต้องรับรู้ตลอดเวลา จึงควรฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางในอารมณ์คือความรูสึกยินดียินร้ายเสียบ้าง จะได้ไม่เกิดอัตตาไปยึดมั่นถือมั่น จิตของเราก็จะไม่หลงไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดความทุกข์ การฝึกจิตให้รู้ปล่อยวาง ก็ต้องมีความเพียรในการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอๆว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” ยิ่งท่องไว้ให้มากๆก็จะไปสร้างความรู้ตัวไว้ในจิตใต้สำนึก ยิ่งจะทำให้เกิดสติ รู้ปล่อยวางในอารมณ์ได้มากๆ จิตของเราก็จะเกิดความสงบสุขได้มาก และเป็นเหตุให้เกิดอธิศีล มีการพูดจาชอบ,การงานชอบ,การเลี้ยงชีวิตชอบ, เกิดอธิจิต มีจิตที่ตั้งมั่นในความสงบ และมีอธิปัญญา คือมีตาปัญญาที่จะเห็นแจ้งในสภาวธรรมต่างๆได้ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

นิกายเซ็น

นิกายเซ็น(Zen) 

     คือนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนา อยู่ในฝ่ายมหายาน แต่มีความคล้ายคลึงกับเถรวาทในสายพระป่า เซ็นไม่นิยมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ เซ็นจะเน้นการฝึกปฏิบัติ ฝึกการใช้ปัญญา และสมาธิ เพื่อให้ เกิดพุทธิปัญญาจนเข้าใจหลักธรรมด้วยตนเอง จุดมุ่งหมายของเซ็น คือการตระหนักรู้ในพุทธภาวะ การบรรลุธรรมในแบบเซ็นจะเรียกว่า "ซาโตริ" หรือภาวะรู้แจ้ง ซึ่งเป็นภาวะที่ อวิชชา ตัณหา อุปทาน มลายหายไปสิ้น เมื่อบรรลุแล้วก็จะเข้าสู่ความหลุดพ้น ทุกสิ่งกลายเป็นสุญญตา หรือ "ความว่าง" ปราศจากความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่พระนิพพาน จุดเด่นอีกประการหนึ่งของเซ็นคือการไม่ยึดติดในรูปแบบพิธีกรรม หรือแม้แต่พระไตรปิฎก เซนถือว่า การบรรลุมรรคผลนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทอักษร หรือความรู้ด้วนปริยัติ เพราะตัวอักษรหรือภาษามีข้อจำกัด ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงทั้งหมดได้ และการหลุดพ้นในแบบเซ็น ก็ไม่ต้องมีขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องเจริญไตรสิกขาตามลำดับมาเลย ใครก็ตามที่ตระหนักรู้แก่นแท้ข้องจิตใจตน ก็บรรลุเป็นอรหันต์ได้เลย

ด้วยความที่ เซ็น เป็นนิกายที่ส่งผ่านปรัชญาการดำเนินชีวิตที่นำไปใช้ได้จริงสู่ผู้ปฏิบัติอย่างถึงแก่นและเป็นธรรมชาติ ไม่ได้อิงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือคัมภีร์ แต่เน้นให้ใช้ปัญญา เพื่อให้เห็นสัจจธรรมด้วยตนเอง เซ็นจึงเป็น ธรรมชาติ ที่อยู่รอบๆตัวเรา ผู้ศึกษาเซนจึงไม่จำกัดว่าจะเป็นคนศาสนาไหน ทำให้มีการศึกษาเซ็นอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่ชาวพุทธ คริสต์ และ อิสลาม ปัจจุบันเซ็นได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อเมริกา

การปฏิบัติเซ็น

วิธีการปฏิบัติเซ็น แบ่งได้เป็น 3 ประการคือ

ซาเซ็น (Zazen) หมายถึงการนั่งสมาธิอย่างสงบและเพ่งสมาธิ
ซันเซ็น (Sanzen) หรือ วิธีการแห่งโกอัน โกอัน หมายถึง เอกสารข้อมูลที่รับรู้กันโดยทั่วไป (public document) มักจะเป็นเรื่องราวของอาจารย์เซ็นในอดีต หรือบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับศิษย์ มักเป็นปริศนาธรรม ใช้เป็นเครื่องมือทำลายความคิดทางตรรกะ เพื่อที่จะช่วยนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความเป็นจริงแห่งเซ็น
ม็อนโด (Mondo) คือการถามและการตอบอย่างอย่างทันทีทันใด โดยไม่ใช้ระบบความคิดหรือเหตุผลไตร่ตรองว่าเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่ อาจารย์จะเป็นผู้ตั้งคำถามและพิจารณาคำตอบที่ลูกศิษย์ตอบในขณะนั้น

ประวัติของนิกายเซน

พระมหากัสสป
ความเป็นมาของนิกายได้ท้าวความไปถึงครั้งพุทธกาล คือ เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ ทรงชูดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่งท่ามกลางธรรมสภา โดยมิได้ตรัสอะไรเลย ที่ประชุมไม่มีผู้ใดเข้าใจความหมาย เว้นแต่พระมหากัสสปนั่งยิ้มน้อยๆ อยู่ พระศาสดาจึงตรัสว่า กัสสป ตถาคตมีธรรมจักษุได้ และนิพพานจิต ตถาคตมอบหมายให้แก่เธอ ณ บัดนี้ และได้มอบบาตรและจีวรให้พระมหากัสสป เซ็นจึงเคารพพระกัสสปว่า ผู้ให้กำเนิดนิกาย

พระอานนท์
พระอานนท์ เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 2 ของนิกายเซน สำหรับพระอานนท์นี้ มีตำนานเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระอานนท์ผู้มีความจำเป็นเลิศ และเป็นผู้ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าผู้ใด ยังเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่มีภาระกิจจะต้องเข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฏก จึงได้เร่งบำเบ็ญเพียรปฏิบัติธรรมอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งอ่อนล้า และล้มตัวลงนอน จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนนั้นเอง หลังจากที่ การสังคายนาพระไตรปิฎกเสร็จสิ้นลงแล้ว พระมหากัสสปจึงได้มอบบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าให้แก่พระอานนท์

พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ)
ต่อมาเซ็นได้มีการสืบต่อไปอีก 28 องค์ โดยแต่ละช่วงที่รับสืบทอด ก็จะได้รับบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าเป็นสัญลักษณ์ของสังฆปรินายก สืบต่อกันมาจนถึงพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) "พระโพธิธรรม" เดิมเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าแผ่นดิน แคว้นคันธารราช ประเทศอินเดีย หลังจากที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ก็เดินทางจากอินเดียเข้าสู่ประเทศจีน และได้สถาปนาเซ็นขึ้น ในประเทศจีน ช่วงเวลานั้น แม้ในประเทศจีนจะมีพระพุทธศาสนาสถาปนาขึ้นแล้ว แต่พุทธบริษัททั้งหลายปฏิบัติธรรมกันแต่เพียงผิวเผิน การสวดมนต์ภาวนา ศึกษาธรรม ก็มิได้ทำอย่างจริงจังกระทั่งเล่าเรียนพระไตรปิฎก ก็หวังเพียงประดับความรู้ หรือไม่ก็ใช้เป็นข้อถกเถียงเพื่ออวดภูมิปัญญา

ครั้งหนึ่ง พระเจ้าเหลียงบู้ตี๊ พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนามาก ทรงถือศีลกินเจอยู่เป็นประจำ เมื่อข่าวการมาถึงของพระอาจารย์ตั๊กม๊อถูกรายงานไปยังราชสำนัก พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงปิติยินดี ยิ่งจึงได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาราธนาเข้าเฝ้าทันที ในปีนั้นเองพระอาจารย์ตั๊กม๊อได้รับนิมนต์จากพระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ไปยังนานกิงนครหลวงเพื่อถกปัญหาธรรม
พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ได้ตรัสถามพระอาจารย์ตั๊กม๊อว่า
"ตั้งแต่ข้าพเจ้าครองราชย์มา ได้สร้างวัดวาอาราม โบสถ์วิหาร และพระคัมภีร์มากมาย อีกทั้งอนุญาตให้ผู้คนได้บวช โปรยทาน ถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสงฆ์ ตลอดจนทะนุบำรุงพระศาสนามากมาย ไม่ทราบว่าจะได้รับบุญมากน้อยเพียงใด? "
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า
"ไม่ได้เลย"
พระเจ้าเหลี่ยงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า
"อริยสัจ คืออะไร? "
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า "ไม่มี"
พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงตรัสถามอีกว่า
"เบื้องหน้าข้าพเจ้านี้ คือใคร?"
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ ตอบว่า "ไม่รู้จัก"
พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ทรงได้ยินคำตอบเช่นนั้น ไม่ค่อยพอพระทัย
พระอาจารย์ตั๊กม๊อ เห็นว่า พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ทรงสั่งสมภูมิปัญญายังไม่แก่กล้าพอที่จะบรรลุได้ จึงทูลลาจากไป

เว่ยหลาง
ท่านเว่ยหลาง หรือในภาษีจีนกลาง "ฮุ่ยหนิง" เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6 พื้นเพเป็นชาวมณฑลกว่างตง บิดาเป็นชาวเมือง ฟั่นหยาง ถูกถอดออกจากราชการและได้รับโทษเนรเทศไปอยู่เมืองซินโจวและถึงแก่กรรมขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงยังเล็กๆอยู่ สองแม่ลูกพากันโยกย้ายไปอยู่กว่างโจว
ท่านฮุ่ยเหนิงประกอบอาชีพตัดฟืนไปขายเพื่อเลี้ยงดูมารดา

วันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งให้แก่เจ้าจำนำรายหนึ่งในตลาดพลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้าน ซึ่งท่านฮุ่ยเหนิงเอาฟืนไปส่งนั่นเอง
ชายคนนั้นสาธยายมนต์มาถึงถ้อยคำที่ว่า
"พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ"
เมื่อได้ยินถ้อยคำเช่นนี้จิตใจของท่านฮุ่ยเหนิงก็สว่างโพลงในพุทธธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า
"ท่านกำลังสวดอะไร"
"เรากำลังสวดวัชรสูตร"
"ท่านไปเรียนมาจากที่ไหน"
"เราเรียนมาจากท่านอาาจารย์หงเหย่น แห่งวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมย เมืองฉีโจว ท่านมีศิษย์อยู่เป็นพันๆ คน โดยสั่งสอนให้ศิษย์ทั้งหลายบริกรรมพระสูตรนี้ เพื่อจักได้ค้นพบธรรมญาณแห่งตนและเข้าถึงความป็นพุทธะ"
ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงกำลังซักไซร้ เรื่องราวด้วยความสนใจและแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปเฝ้าพระอาจารย์หงเหย่น เพื่อเรียนพรระสูตรนี้ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่มากจนชายใจบุญผู้อารีอยากสนับสนุนจึงให้เงินท่านฮุ่ยเหนิง 10 ตำลึงเพื่อนำไปให้มารดาไว้ใช้สอย ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงไม่อยู่ และหลังจากที่ได้จัดแจงให้มีผู้ดูแลมารดาแล้วท่านก็มุ่งหน้าเดินทางไปยังวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมยทันที ใช้เวลาเกือบสามสิบวันจึงถึงจุดหมาย
เมื่อเข้าไปนมัสการพระอาจารย์หงเหยิ่น ท่านก็ถามว่า
"เจ้ามาจากไหนหรือ และต้องการอะไร"
"กระผมเป็นคนเมืองซินโจว มณฑลกว่างตง กระผมต้องการมากราบท่านอาจารย์และต้องการหาหนทางความเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเท่านั้น นอกจากนี้แล้วกระผมไม่ต้องการอะไรเลย"
"เธอเป็นชาวกว่างตงหรือ เป็นคนป่าคนดงยังจะหวังเป็นพุทธะได้ยังไงกัน"
"ทิศเหนือทิศใต้เป็นเพียงแบ่งทิศทาง แต่หาได้แบ่งแยกความเป็นพุทธะไม่กระผมแตกต่างไปจากท่านอาจารย์ก็ตรงที่ร่างกายเท่านั้นแต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่แตกต่างกันเลย"

ท่านสังฆปริณายกรู้ทันทีว่าเด็กหนุ่มบ้านอกคนนี้ ได้รู้สัจธรรมระดับหนึ่งแล้วแต่เพื่อมิให้เป็นภัยแก่เขา จึงแสร้งดุให้เขาเงียบเสียง แล้วให้ไปช่วยทำงานในครัว

วันหนึ่งท่านอาจารย์เรียกประชุมศิษย์ทั้งหมด ให้แต่ละคนเขียน "โศลก" บรรยายธรรมคนละบทเพื่อทดสอบภูมิธรรม "ชินเชา (ชินชิ่ว)" หัวหน้าศิษย์ เป็นผู้ที่ใคร ๆ ยกย่องว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งกว่าคนอื่น และมีหวังจะได้รับมอบบาตรและจีวรจากท่านอาจารย์แน่ ๆ ได้แต่งโศลกบทหนึ่ง เขียนไว้ที่ผนังว่า

"กาย คือต้นโพธิ์
ใจ คือกระจกเงาใส
จงหมั่นเช็ดถูเป็นนิตย์
อย่าปล่อยให้ฝุ่นละอองจับ"

ท่านอาจารย์อ่านโศลกของชินเชาแล้ว ชมเชยต่อหน้าศิษย์ทั้งหลายว่าเป็นผู้เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ่ง (แต่ตอนกลางคืนเรียกเธอเข้าไปพบตามลำพังบอกว่าชินเชา "ยังไม่ถึง" ให้พยายามต่อไป) เว่ยหล่างได้ฟังโศลกของหัวหน้าศิษย์แล้ว มีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่า ผู้แต่งโศลกยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง จึงแต่งโศลกแก้ เสร็จแล้ววานให้เพื่อนช่วยเขียนให้ เพราะเว่ยหล่างอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ โศลกบทนั้นมีความว่า

"เดิมที ไม่มีต้นโพธิ์
ไม่มีกระจกเงาใส
เมื่อทุกอย่างว่างเปล่าตั้งแต่ต้น
ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร"

ท่านอาจารย์รู้ทันทีว่า ผู้เขียนโศลกเป็นผู้เข้าถึงสัจธรรมสูงสุดแล้ว จึงถามใครเป็นคนแต่ง พอทราบว่าเว่ยหล่างเด็กบ้านนอกแต่ง จึงสั่งให้ลบทิ้ง พร้อมดุด่าต่อหน้าศิษย์อื่นๆ ว่า หนังสือยังอ่านไม่ออกสะเออะจะมาเขียนโศลก แต่พอคล้อยหลังศิษย์อื่น ท่านอาจารย์เรียกเว่ยหล่างเข้าพบมอบบาตรและจีวรให้ (มอบตำแหน่ง) แล้วสั่งให้รีบหนีไปกลางดึก

รินไซเซน
รินไซเซนเป็นเซนหนึ่งในห้าสายหลักของเซนสายใต้ ปรมาจารย์ของเซนสายนี้คือท่าน หลินจิ อี้เสวียน ท่านเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ ฮวงโป ซนสายนี้รุ่งเรืองทั้งในและนอกประเทศจีน ในญี่ปุ่น ท่านเมียวอัน เออิไซ เป็นผู้นำเข้าไปเผยแผ่ ในญี่ปุ่น ในราวปีค.ศ. 1191 ท่านติช นัท ฮันห์ ปรมาจารย์เซนยุคปัจจุบัน ชาวเวียดนาม ก็เป็นหนึ่งในผู้สืบทอดเซนสายนี้ เซนสายนี้มีลักษณะเด่นคือ มีการใช้การตวาด การฟาดตี หรือคำพูดที่รุนแรง ในการกระตุ้นให้ผู้ศึกษาบรรลุธรรมอย่างฉับพลัน จนมีคำกล่าวในญี่ปุ่นว่า เซนสายรินไซ เป็นเซนสำหรับ โชกุน ส่วนเซนสายโซโต ซึ่งนุ่มนวลกว่า เป็นเซนสำหรับชาวบ้าน

การบรรลุธรรมของท่านรินไซ
ท่านรินไซได้ไปเป็นศิษย์ของท่านฮวงโปอยู่ 3 ปี ได้ศึกษาพระธรรมวินัยและข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด วันหนึ่งเพื่อนของท่านให้ไปถามท่านอาจารย์ฮวงโปว่า

"แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคืออะไร ?"

คำตอบที่ท่านได้รับก็คือ ถูกท่านฮวงโปตีด้วยไม้เท้า 3 ทีโดยไม่อธิบายอะไรเลย ท่านรินไซน้อยใจจึงคิดจะลาไปยังสำนักอื่น ท่านฮวงโปจึงแนะนำให้ไปหาพระอาจารย์ต้ายู้ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเคาอัน ท่านต้ายู้พอทราบเรื่องราวทั้งหมด จึงบอกกับท่านรินไซว่า

"ที่ท่านฮวงโปตีเจ้านั้น ก็เพื่อปลดเปลื้องเจ้าให้ออกจากความทุกข์ต่างหากเล่า"

ท่านรินไซพิจารณาแล้วก็รู้แจ้งว่า

"พุทธธรรมนั้น น้อยนิดยิ่งนัก ไม่มีอะไรมากไปกว่าการทำใจไม่ให้เป็นทุกข์เท่านั้น"

ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่อีกเลยเพราะหยุดคิดปรุงแต่งด้วยกิเลสเสียแล้ว ท่านได้กลับไปหาท่านฮวงโปอีกครั้ง และเล่าให้ฟังถึงการสนทนาธรรมและสิ่งที่ท่านได้รับจากท่านต้ายู้ ท่านอาจารย์ฮวงโป จึงคิดจะทดลองดูว่า ศิษย์รู้แจ้งในธรรมจริงแท้แค่ไหน จึงกล่าวว่า

"เจ้าต้ายู้นี่มันเพ้อเจ้อเหลือเกิน มาคราวหน้าถ้าพบกันอีกต้องตีเสียให้เข็ด"

"จะรอถึงคราวหน้าทำไม ทำไมไม่ตีเสียเลยคราวนี้"

ท่านรินไซกล่าวตอบ ว่าแล้วท่านก็ตบหน้าท่านฮวงโปฉาดใหญ่ ความปล่อยวางเกิดขึ้นในขณะเดียวกันทั้งศิษย์และอาจารย์ ท่านฮวงโปเพียงแต่พูดว่า

"เจ้าบ้าคนนี้ มันกำลังลูบหนวดเสือ"

บทสรุป
จะเห็นได้ว่านิกายเซ็นเป็นนิกายที่เร็วและแรง เน้นการบรรลุธรรมแบบฉับพลัน มีโกอานท้าทายดึงดูดผู้มีปัญญา มาไขปริศนาธรรม เพื่อฝึกฝนวิธีคิดแบบอริยะ ทำลายความคิดทางตรรกะ เพื่อให้เห็นสัจธรรม เซ็นจึงพุ่งตรงไปที่แก่นของพุทธศาสนา เป็นนิกายที่เน้นให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงประสบการณ์ของสภาวะธรรม และ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่สุด มิใช่แต่เพียงท่องจำ แล้วนำไปใช้แบบฝืนธรรมชาติ การศึกษาเซ็น จำเป็นต้องละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นไปเสียก่อน แม้แต่การยึดมั่นถือมั่นใน พระไตรปิฎก หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ดังภาพวาดอันโด่งดังของท่านเว่ยหลาง ที่กำลังฉีกคัมภีร์ อยู่ ส่วนคำสอนของลูกศิษย์ของท่าน ไปไกลยิ่งกว่านั้นเสียอีก ท่านว่าไงน่ะหรือ "พบพระพุทธเจ้าบนนถนน ... จงฆ่าเสีย" มีใครไขปริศนาธรรมข้อนี้ได้ไหมครับ


บทสรุป

จะเห็นได้ว่านิกายเซ็นเป็นนิกายที่เร็วและแรง เน้นการบรรลุธรรมแบบฉับพลัน มีโกอานท้าทายดึงดูดผู้มีปัญญา มาไขปริศนาธรรม เพื่อฝึกฝนวิธีคิดแบบอริยะ ทำลายความคิดทางตรรกะ เพื่อให้เห็นสัจธรรม เซ็นจึงพุ่งตรงไปที่แก่นของพุทธศาสนา เป็นนิกายที่เน้นให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงประสบการณ์ของสภาวะธรรม และ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ที่สุด มิใช่แต่เพียงท่องจำ แล้วนำไปใช้แบบฝืนธรรมชาติ การศึกษาเซ็น จำเป็นต้องละทิ้งความยึดมั่นถือมั่นไปเสียก่อน แม้แต่การยึดมั่นถือมั่นใน พระไตรปิฎก หรือ แม้แต่พระพุทธเจ้า ดังภาพวาดอันโด่งดังของท่านเว่ยหลาง ที่กำลังฉีกคัมภีร์ อยู่ ส่วนคำสอนของลูกศิษย์ของท่าน ไปไกลยิ่งกว่านั้นเสียอีก ท่านว่าไงน่ะหรือ "พบพระพุทธเจ้าบนนถนน ... จงฆ่าเสีย" มีใครไขปริศนาธรรมข้อนี้ได้ไหมครับ ?



*****************************


Cr. http://sudoku.in.th/

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สัปปุริสธรรม 7


สัปปุริสธรรม 7

แปลว่า การคบสัตบุรุษ สัตบุรุษ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ ตรงกับภาษาบาลีว่า สัปปุริสะ ผู้ที่เป็นสัตบุรุษหรือสัปปุริสะ ได้แก่ 

1.
รู้เหตุ
2.
รู้ผล
3.
รู้ตน
4.
รู้ประมาณ
5.
รู้กาล
6.
รู้ชุมชน
7.
รู้บุคคล 


การเข้าไปคบหา ได้แก่ การเข้าไปสนทนาไต่ถาม มอบตัวเป็นศิษย์ รับโอวาทของสัตบุรุษ

เมื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีสัตบุรุษ คือ คนดีตามจักรข้อ ๑ แล้ว ก็เข้าไปคบหาสมาคมกับสัตบุรุษนั้น เป็นจักรข้อที่ ๒ สัตบุรุษย่อมแนะนำสิ่งที่ควร
แนะนำ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้จักเว้นชั่วประพฤติดี ละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์กระทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่าง
เดียว 

1.
 
ธัมมัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายความว่า ความรู้จักหัวข้อธรรม หัวข้อวินัย อันเป็นเหตุแห่งความสุข และแห่งความทุกข์
เช่น อโลภะ ความไม่โลภ อโทสะ ความไม่โกรธ อโมหะ ความไม่หลง เป็นเหตุแห่งความสุข โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ
ความหลง เป็นเหตุแห่งความทุกข์ เป็นต้น.

2.
อัตถัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักผล หมายความว่า ความรู้จักเนื้อความของธรรมของวินัยแต่ละข้อ คือความสุขและความทุกข์ อัน
เป็น ผลแห่งหัวข้อธรรมวินัยที่เป็นเหตุนั้น ๆ เช่น ความสุขเป็นผลแห่งอโลภะ อโทสะ อโมหะ ความทุกข์ เป็นผลแห่งโลภะ โทสะ โมหะ เป็น
ต้น

3.
อัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักตน หมายความว่า ความรู้จักฐานะภาวะที่ตนมีอยู่เป็นอยู่ แล้วประพฤติให้เหมาะสม เช่นเกิดมาใน
ชาติ ตระกูลใด มียศศักดิ์อย่างไร มีสมบัติเท่าไร มีบริวารเป็นอย่างไร มีความรู้ทางโลกเท่าไร ความรู้ทางธรรมเท่าไร และมีคุณธรรม คือ
สัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณเท่าไร เมื่อรู้จักแล้วต้องวางตนให้เหมาะสม คือเจียมเนื้อเจียมตัว ตั้งอยู่ในสุจริตประพฤติดีด้วย
ไตรทวารสม่ำเสมอ ไม่เย่อหยิ่งอวดดี อวดมั่งอวดมีอวดรู้ โบราณท่านสอนว่าให้หมั่นตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงาหน้า ก็มุ่งให้รู้จักระวังตน
ประพฤติตนให้เหมาะสมแก่ฐานะภาวะดังกล่าวนี้เอง

4.
มัตตัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณ รู้จักพอดี หมายความว่า จะทำอะไร จะพูดอะไร จะคิดอะไร ก็ให้รู้จักประมาณ พอดี พองาม,
ไม่ มาก ไม้น้อย, ไม่ขาด ไม่เกิน, ไม่ตึง ไม่หย่อน, ไม่อ่อนปวกเปียก ไม่แข็งกร้าว ไม่เกิดโทษแก่ใคร ๆ มีแต่เกิดประโยชน์แก่บุคคลทั่ว
ไป ในกาลทุกเมื่อ ดังธรรมสุภาษิต ที่ว่า มัตตัญญุตา สทา สาธุ

ความรู้จักประมาณสำเร็จประโยชน์ในการทุกเมื่อ ดังนี้. ฉะนั้น ท่านจึงจำกัดความรู้จักประมาณไว้ 3 ประการ คือ
1.
รู้จักประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบธรรม มีกสิกรรม เป็นต้น ตามควรแก่ฐานะภาวะของตน
2.
 รู้จักประมาณในการรับ คือรับแต่สิ่งที่ดีไม่มีโทษตามกฎหมาย เช่น ไม่ใช่ของโจร ไม่ใช่ของหนีภาษี เป็นต้น ถ้าเป็นพระ เณร ก็ไม่รับของ
ผิด พระพุทธบัญญัติ เช่น เงินทอง เป็นต้น รับแต่ปัจจัยที่สมควรแก่สมณะบริโภค
3.
 รู้จักประมาณในการบริโภค คือพิจารณาเสียก่อน เว้นสิ่งที่มีโทษ บริโภคกินใช้สอยแต่สิ่งที่มีประโยชน์ แม้สิ่งที่มี ประโยชน์นั้นก็บริโภค
แต่ พอควรแก่ความต้องการของร่างกาย ให้พอดีกับฐานะและภาวะ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เบียดกรอ.

5.
 กาลัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลา หมายความว่า ความรู้จักกำหนดจดจำว่า กาลเวลาไหนควรปฏิบัติกรณียะอันใด แล้วปฏิบัติ
ให้ ตรงต่อเวลานั้น ไม่ช้าเกินควร ไม่ด่วนเกินกาล และรู้จักกรณียะบางอย่างบางคราว บางแห่ง ต้องทำให้เสร็จต่อเวลาก็ต้องรีบ จะชักช้าอยู่
ไม่ได้ ถ้าช้าอยู่ก็จัดว่าไม่รู้จักกาลเวลา และอาจเสียประโยชน์ได้ หรือบางอย่างต้องทำหลังเวลาจึงจะดี ถ้ารีบทำเสียก่อนเวลาก็ไม่ดี จัดว่า
ไม่รู้จักกาลเหมือนกัน อนึ่ง กาลเวลาที่ควรทำกิจนี้ แต่เอากิจอื่นมาทำ หรือเวลาที่ควรทำกิจอื่น แต่เอากิจนี้มาทำ อย่างนี้ก็ชื่อว่า ไม่รู้จัก
กาล เหมือนไก่บางตัวที่ขันไม่รู้จักเวลา ย่อมเสียหายและน่าติเตียนมาก คนดีย่อมไม่ทำอย่างนี้ เขารู้กาลสมัย ทำราชการได้ดี มีพระพุทธ
สุภาษิต สอนว่า กาลัญญู สมยัญญู จ ส ราชวสติง วเส ผู้รู้กาลสมัย พึงอยู่ในวงราชการได้ เพราะทางราชการถือเวลาเป็นกวดขัน ผิดเวลา
ไม่ได้

6.
 ปริสัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักชุมชน คือความรู้จักชนชั้นต่าง ๆ เช่น ชั้นผู้ใหญ่โดยชาติ โดยวัย โดยคุณ พวกหนึ่ง ชั้นผู้น้อย
โดยชาติ โดยวัย โดยคุณ พวกหนึ่ง กิริยาวาจาที่จะใช่ต่อชนชั้นผู้ใหญ่อย่างหนึ่ง ที่ใช้ต่อชนชั้นผู้น้อยอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ความรู้จักชุมชนนั้น ๆ
ด้วย แล้ว เมื่อเข้าไปหาเขา เราต้องปฏิบัติ คือใช้กิริยาวาจาให้เหมาะสมแก่ชนนั้น ๆ

7.
 ปุคคลปโรปรัญญุตา แปลว่า ความเป็นผู้รู้จักบุคคลผู้ยิ่งและผู้หย่อน หมายความว่า ความรู้จักเลือกว่า นี้เป็นผู้ยิ่งคือดี นี้ผู้หย่อนคือไม่ดี
วิธีเลือก คือ แยกบุคคลออกเป็น ๒ พวก พวกใดใคร่เห็นผู้ประเสริฐ ใคร่ฟังธรรมตั้งใจฟังจำได้ พิจารณาเนื้อความธรรมที่จำได้ รู้ทั่วถึงผล
ถึงเหตุแล้วปฏิบัติธรรมตาม สมควร เพื่อประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น พวกนี้นับว่าดี น่าสรรเสริญควรคบ ส่วนพวกที่ตรงกันข้าม เป็นคนไม่ดี น่า
ตำหนิ ไม่ควรคบ เมื่อคัดเลือกออกเป็น ๒ พวกแล้ว ก็คบเฉพาะกับคนดี ไม่คบคนไม่ดี จึงจะเป็นคนดี สมด้วยพระบาลีว่า ยัง เว เสวติ ตาทิ
โส คบคนใดก็เป็นคนเช่นนั้น ดังนี้.


ตอนที่ 2

สัปปุริสธรรมอีก 7 อย่าง

1.
 สัตบุรุษ ประกอบด้วยธรรม 7 ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมากเป็นคนมีความ
เพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา.
2.
 จะปรึกษาสิ่งใด ๆ กับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษา[/b] เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
3.
 จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิด เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
4.
 จะพูดสิ่งใด ก็ไม่พูด เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
5.
 จะทำสิ่งใด ก็ไม่ทำ เพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
6.
 มีความเห็นชอบ เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น.
7.
 ให้ทานโดยเคารพ คือ เอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้นไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย.

อธิบายข้อธรรม
1.
มีศรัทธา (อธิบายแล้วข้างต้น)
2. 3. 4. 5.
หมายความว่า ธรรมดาสัตบุรุษเมื่อปรึกษา คือสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่นก็ตาม จะคิดตามลำพังตนก็ตาม จะพูดให้
ใครฟังก็ตาม จะทำการใดก็ตาม มุ่งความสงบสุขแก่ทุกฝ่าย ไม่ให้ใคร ๆ เดือดร้อนเพราะพฤติกรรมของตน ทำตนให้มีกาย วาจา ใจ สงบ
บริสุทธิ์ ครบไตรทวารด้วยสุจริต ๓ อย่าง.
6.
มีความเห็นชอบ
7.
ให้ทานโดยเคารพ มี 2 อย่าง คือ 

1)
เคารพใน ทาน คือของที่ให้

2)
เคารพในผู้รับทาน คือผู้รับของที่ให้
หมายความว่า เมื่อมีของที่ควรให้ มีศรัทธาจะให้ มีผู้รับพร้อม ก็ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ
ไม่แสดงกิริยาทางกาย ทางวาจาหยาบคาย เป็นเชิงดูหมิ่น ในของที่ให้หรือในคนผู้รับของนั้น
แสดงกิริยาสุภาพเรียบร้อยในการให้.

สัปปุริสธรรม ตัดบทเป็น สัง แปลว่า ดี หรือ สันตะ แปลว่าผู้สงบ บุริสะ แปลว่า คน
รวมเข้าเป็น สัปปุริสะ หรือ สัตบุรุษ (อ่านว่า สัดบุหรุด) แปลว่า คนดี หรือคนสงบ.
สัปปุริสะ + ธรรม = สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของคนดี ธรรมของคนสงบ หมายถึง สมบัติผู้ดี
หรือ ธรรมสมบัติ หรือ คุณสมบัติของผู้ดี. กล่าวคือธรรมที่ทำคนให้เป็นคนดี. ใครก็ตามเมื่อมีธรรมของ
สัตบุรุษ ก็ย่อมเป็นคนดี, ถ้าไม่มีก็เป็นคนดีไม่ได้
สัปปุริสธรรม มี 2 หมวด ๆ ละ 7 จึงเรียกว่า สัปปุริสธรรม 7

หลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิจิตร

ด้านหน้า ด้านหลัง พระผงรูปเหมือนข้างพัดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร เนื้อเก่ายุคต้นๆ ราคาเบาๆ ครับ  ๙๙๙.๙๙๙ บาท โทร 08722...