วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นอัตตา

ความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นอัตตา รู้ปล่อยวางเสียได้จะเข้าใจในอนัตตา


ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ก่อให้เกิดอัตตาอยู่เสมอๆ ก็เพราะเราอยู่ในโลกของการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์การนึกคิดปรุงแต่งจิต ด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายตลอดเวลา จึงทำให้เกิดเป็นอัตตาอยู่ในใจ ทีละเล็กทีละน้อยสะสมไว้ในใจ ที่เรียกว่าอนุสัยกิเลส หรือตะกอนนอนเนื่องในจิตใต้สำนึก จึงทำให้เรามักยึดถือ หรือยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่รู้ทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์ ด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายอยู่เสมอๆ เพราะความรู้สึกยินดียินร้าย จึงทำให้จิตส่งออกไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งรับรู้ทาง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย มานึกคิดปรุงแต่งอยู่เสมอๆทำให้เกิดอัตตา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ตามมา

ถ้าเราได้ฝึกจิตของเราให้รู้ปล่อยวางเสีย ไม่เกิดยินดียินร้ายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จิตของเราก็จะไม่ส่งออกไปยึดมั่นถือมั่น ให้เกิดอัตตา จิตของเราก็จะเกิดความสงบนิ่ง เกิดตาปัญญารู้พิจารณาขึ้นมาเองในใจว่า ก็เพราะจิตของเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่นด้วยอัตตา ต่อสิ่งที่มีอยู่คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย ที่เรารับรู้อยู่ล้วนเป็นอนัตตา เพราะไม่มีอัตตาไปยึดมั่นถือมั่น มันก็คืออนัตตานั้นนั่นเอง ดังมีกล่าวไว้ใน ติลักขณาทิคาถาว่า “เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้น ย่อมเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละ เป็นทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมหมดจด”

พระพุทธเจ้าท่านแสดงธรรมอยู่เสมอในที่ต่างๆว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ในขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เมื่อเป็นทุกข์ควรหรือที่เราจะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นใน ขันธ์ ๕ นั้น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นรูปขันธ์ ในขันธ์ ๕ ที่เราต้องรับรู้ตลอดเวลา จึงควรฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางในอารมณ์คือความรูสึกยินดียินร้ายเสียบ้าง จะได้ไม่เกิดอัตตาไปยึดมั่นถือมั่น จิตของเราก็จะไม่หลงไปยึดมั่นถือมั่นให้เกิดความทุกข์ การฝึกจิตให้รู้ปล่อยวาง ก็ต้องมีความเพียรในการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอๆว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” ยิ่งท่องไว้ให้มากๆก็จะไปสร้างความรู้ตัวไว้ในจิตใต้สำนึก ยิ่งจะทำให้เกิดสติ รู้ปล่อยวางในอารมณ์ได้มากๆ จิตของเราก็จะเกิดความสงบสุขได้มาก และเป็นเหตุให้เกิดอธิศีล มีการพูดจาชอบ,การงานชอบ,การเลี้ยงชีวิตชอบ, เกิดอธิจิต มีจิตที่ตั้งมั่นในความสงบ และมีอธิปัญญา คือมีตาปัญญาที่จะเห็นแจ้งในสภาวธรรมต่างๆได้ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิจิตร

ด้านหน้า ด้านหลัง พระผงรูปเหมือนข้างพัดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร เนื้อเก่ายุคต้นๆ ราคาเบาๆ ครับ  ๙๙๙.๙๙๙ บาท โทร 08722...