วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

จิตชอบส่งออก

จิตชอบส่งออกเพราะยินดียินร้าย จิตไม่ส่งออกเพราะมีกัมมัฏฐาน

ตามธรรมดาของจิต ของคนเราชอบส่งออกไปกับการรับรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์คือสิ่งที่ใจรู้สึกนึกคิด เพราะ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นวัตถุกามคือพัสดุอันน่าใคร่ ที่ชวนให้รัก, ชักให้ใคร่,พาใจให้ไหลหลง, ทำให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เป็นกิเลสกามคือกิเลสเป็นเหตุให้ใคร่อันได้แก่ความอยาก ถ้าเราไม่มีการเจริญกัมมัฏฐาน คือวิธีอบรมจิตใจและเจริญปัญญา, หรืออุบายทางใจ, หรืออารมณ์เป็นเป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, เราก็ไม่อาจที่จะมีสติเกิดรู้เท่าทันที่จะปล่อยวางในความรู้สึกยินดียินร้ายได้ทันอย่างแน่นอน จึงเป็นเหตุให้จิตส่งออกไปจับใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดการนึกคิดปรุงแต่งทำให้จิตฟุ้งซ่านไม่สงบสุข มีการส่งออกไปตลอดเวลาไม่นิ่ง เพราะราคะ โทสะ โมหะ

ฉะนั้นเราจึงต้องมีกัมมัฏฐานไว้ในจิตของตนอยู่เสมอๆ จึงจะมีสติรู้เท่าทัน รู้ปล่อยวางในความรู้สึกยินดียินร้ายได้ คำภาวนาว่า “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” นี่คือกัมมัฏฐาน เพราะเป็นเหตุให้เกิดการสังวรอินทรีย์ รู้ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เมื่อจิตมีสติรู้ละความรู้สึกยินดียินร้ายได้ จิตก็จะไม่ส่งออกไปจับสิ่งที่รู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตของเราก็จะเกิดความสงบนิ่งเป็นกัมมัฏฐาน เมื่อจิตมีความสงบนิ่ง เพราะราคะ โทสะ โมหะ ลดลงไป ก็จะเกิดปัญญารู้สภาวธรรมต่างๆ เรียกว่าเกิดอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ที่เป็นเหตุให้เรารู้ประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม ๓ อย่าง คือสุจริตทางกาย สุจริตวาจา และสุจริตทางใจ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

การรู้ปล่อยวางในอารมณ์

การรู้ปล่อยวางในอารมณ์ เป็นวิถีทางแห่งความสงบสุขของพระพุทธเจ้า

การฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางความวุ่นวาย ปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกแห่งความวุ่นวายสับสน ที่มีแต่สิ่งยั่วยุอยู่มากมายที่มากับวัตถุแห่งกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ชวนให้รัก, ชักให้ใคร่, พาใจให้ไหลหลง, ทำให้เกิดอารมณ์ คือความรู้สึกยินดียินร้าย, ความพอใจหรือความไม่พอใจ, ความชอบใจหรือความไม่ชอบใจ, ที่เกิดเป็นกิเลสกามตัณหาคือความอยาก เป็นบาปอกุศล เป็นอัตตาและอคติ ฝังอยู่ในใจจนเป็นเหตุให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง มองคนในแง่ร้ายบ้าง อิจฉาริษยาบ้าง ที่ทำให้ใจของเราขุ่นมัวเศร้าหมองฟุ้งซ่านอยู่เสมอ หาความสงบสุขไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ใจเพราะสิ่งยั่วยุ การเสพคุ้นอยู่กับสิ่งยั่วยุ มีแต่จะทำให้ใจของเราเกิดความเศร้าหมองพาใจให้เกิดทุกข์ เพราะกิเลสคือความอยากต่างๆที่มากับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ

การฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ใจของเราไม่เกิดความเศร้าหมองเพราะบาปอกุศล การท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจอยู่เสมอๆจะช่วยให้จิตรู้ปล่อยวาง ยิ่งมีเพียรได้ตลอดเวลาได้ยิ่งดี จะทำให้มีสติรู้สกัดกั้นไม่ให้เกิดบาปอกุศลในใจของเราโดยอัตโนมัติ เป็นการรู้ปล่อยวางใจไม่ให้เกิดอารมณ์คือความรู้สึกยินดียินร้าย,ความพอใจหรือความไม่พอใจ, ที่เป็นกิเลสเป็นบาปอกุศล เมื่อใจรู้ละเหตุนั้นได้ใจก็เป็นกุศลคือความผ่องใส เป็นบุญคือความสบายใจ ที่มีผลเป็นความสงบสุข มีสุขชาตินี้และสุขชาติหน้า นี่แหละวิถีทางความสงบสุขของพระพุทธเจ้า ที่ได้ให้ไว้แก่เราชาวพุทธด้วยการมีธัมมะภาวนาว่า ”อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” นี้คือหัวข้อธรรมะไว้ท่องธัมมะภาวนา จัดเป็นการดำริชอบคือการคิดเห็นอยู่ในใจตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

การดับทุกข์ในใจ

การดับทุกข์ในใจ เมื่อต้องเผชิญกับวิบากกรรมเก่าในชีวิต

คนเราเกิดมาทุกๆคนจะต้องพบ จะต้องเจอปัญหาชีวิตด้วยกันเกือบทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไร จะมั่งมีหรือยากจน ไม่ว่าในด้านการงาน การเงินการเรียนการศึกษา ปัญหาทางครอบครัวและญาติมิตร ปัญหาชีวิตในด้านความรักความพลัดพราก ปัญหาความเป็นอยู่และอีกมากมายพรรณนาไม่หมด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ คนเราเกิดมาจากกรรมคือการได้กระทำไว้แล้วแต่อดีตชาติ มาส่งผลให้ชีวิตมีความเป็นไปต่างๆนาๆ ที่สุขและทุกข์ สิ่งที่เรากำลังเผชิญความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเรียกว่าวิบาก ซึ่งเป็นเศษกรรมเก่ามาส่งผล(กรรมหนักเราได้ชดใช้ในนรกมาแล้ว) ถ้าเราต้องพบกับปัญหาชีวิต ดังที่กล่าวมาแล้วก็ขอให้อย่าท้อถอย ขอให้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา แม้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ต่างๆที่เราต้องเจออยู่ทุกวัน ก็ยังจัดเป็นส่วนหนึ่งของวิบากกรรมเก่าที่เราจำต้องรับรู้อยู่ทุกวัน อันเป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ได้ ถ้าเราไม่ยอมเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเราก็จะเกิดทุกข์ ถ้าเราเข้าใจเราก็ไม่ต้องแบกทุกข์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจัดเป็นหนี้เก่าที่เราได้ทำไว้เองแต่อดีตชาติ เป็นเหตุ

ดังพุทธศาสนาสุภาษิตมีกล่าวไว้ว่า
สเจ ปุพฺเพกตเหตุ สุขทุกขํ นิคจฺฉติ
โปราณกํ กต ปาปํ ตเมโส มุญฺจเต อิณํ.

ถ้าประสพสุขทุกข์ เพราบุญบาปที่ทำไว้ก่อนเป็นเหตุ
ชื่อว่าเปลื้องบาปเก่าที่ทำไว้ ดุจเปลื้องหนี้ฉะนั้น.

การบริกรรมหรือท่องธัมมะภาวนาจะช่วยได้ จะทำให้เรามีสติรู้ปล่อยวางในอารมณ์หรือรู้ปล่อยวางความรู้สึกยินดียินร้าย หรืออาการอินที่เป็นอกุศลจิต เมื่อเราได้ฝึกฝนในการท่องภาวนาไว้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะทำอะไรอยู่มียืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน ทำ พูด คิด ยิ่งจะทำให้เราเกิดสติได้เร็วรู้ปล่อยวางได้ไว ปัญหาชีวิตที่เราต้องเผชิญอยู่จะได้ไม่มาทำให้เราเกิดความทุกข์หนักได้ และเพราะเราได้เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชีวิตว่าเกิดจากวิบากกรรมเก่ามาส่งผลเพราะเราเคยเป็นหนี้เค้า ดังพุทธศาสนาภาษิตที่ได้ยกมากล่าวไว้นั้น ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงไปได้ ดังนี้.

คาถาไว้บริกรรมหรือท่องธัมมะภาวนาคือ “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...”เพื่อให้เกิดสติจะได้ดับทุกข์ในใจลงเสียได้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง


การฝึกจิตให้มีสติ

การฝึกจิตให้มีสติ อยู่กับโลกที่วุ่นวายใจในปัจจุบัน

โลกปัจจุบันนี้มีสื่อออนไลน์อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ มือถือ และคอมพิวเตอร์ในรูปแบบต่างที่ใช้ออนไลน์ได้ และรับรู้ข่าวสารได้ ล้วนเป็นสื่อที่จะทำให้เราหลงยินดียินร้าย, มีความพอใจหรือความไม่พอใจ,ได้ทั้งนั้น จิตของเราจึงได้เก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ในจิตใต้สำนึก(เป็นสัญญาขันธ์)มากมาย จึงเป็นเหตุให้จิตของเราเก็บสะสมกิเลสกามตัณหาอุปาทานขันธ์ อันเป็นเหตุให้เกิดอัตตาและอคติ และโลภะ โทสะ โมหะ เป็นบาปอกุศลไว้ในจิตใต้สำนึกเป็นจิตมาร อันเป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความฟุ้งซ่านได้ตลอดเวลา เพราะธรรมชาติของจิตอย่างหนึ่งคือการนึกเองได้เสมอๆการนึกของจิต นึกด้วยกิเลสกามตัณหาอุปาทานขันธ์ อันเป็นเหตุให้เกิดการคิดปรุงแต่งตามมา(เป็นสังขารมาร) เราจึงเกิดความฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ในใจ เพราะจิตจะส่งออกไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอด้วยความรู้สึกยินดียินร้ายเป็นเหตุ

ถ้าไม่อยากให้จิตของเราหลงไปกับสื่อต่างๆเหล่านั้น จนเกิดเป็นความฟุ้งซ่านว้าวุ่นและทุกข์ใจ เราจะต้องฝึกจิตของเราให้มีสติ เพื่อทวนกระแสโลกของสื่อ ด้วยการฝึกจิตให้รู้สังวรอินทรีย์ คือสังวรในการรับรู้สื่อที่จะมากระทบ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ รับรู้แล้วก็ให้มีสติไม่ให้เกิดยินดียินร้ายที่เป็นบาปอกุศล ด้วยการท่องธัมมะภาวนาไว้ในใจ ให้ตลอดเวลาในชีวิตประจำไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ มียืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน ทำ พูด คิด ก็ท่องธัมมะภาวนาไว้ เพื่อสร้างสมความรู้ตัวให้กับจิต(คือสัมปชัญญะ)เตรียมพร้อมไว้ จะทำให้มีสติรู้สกัดกั้นบาปและอกุศล และระงับความรู้สึกยินดียินร้ายได้เองโดยอัตโนมัติ คือการรู้ปล่อยวางในอารมณ์บาปและอกุศล จึงจะต้องมีความเพียรมากหน่อยในการท่องธัมมะภาวนาให้ตลอดเวลาได้ยิ่งดี ยิ่งจะมีสติได้เร็วจนเป็นอัตโนมัติ จึงจะสามารถทวนกระแสโลกได้ดี เพราะมีสติรู้ปล่อยวาง จิตจะไม่ส่งออกไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราฝึกได้แล้วเราก็จะเกิดความสงบนิ่ง เป็นสันติสุขอยู่ในใจของเราโดยไม่หลงกระแสโลกให้เกิดทุกข์ในใจ และจิตจะเริ่มรู้นิ่งขึ้น เพราะเป็นจิตที่เป็นกุศลผลบุญคือความสบายใจ ดังนี้.

คาถาไว้ท่องธัมมะภาวนาคือ “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...”

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

ภารกิจสำคัญในชีวิต

ภารกิจสำคัญในชีวิตของเราคือการสั่งสมบุญ บุญคืออริยะทรัพย์

คนเราเกิดมาไม่ใช่ที่จะมัวตั้งหน้าตั้งตา ที่จะแสวงหาทรัพย์สินเงินทองเอาไว้ใช้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นเป็นโลกีย์ทรัพย์ เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้เลย ควรสั่งสมทรัพย์ที่เป็นอริยะทรัพย์ไว้บ้างจะดีกว่า ที่สามารถนำติดตัวไปได้ด้วยเมื่อเราตายจากโลกนี้ไปแล้ว บุญที่เราได้ทำไว้แล้วจะช่วยให้เราได้ไปเกิดในที่ๆ ดีกว่าในปัจจุบันเช่นสวรรค์ หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่อีกสักครั้ง ก็จะมีอริยะทรัพย์ที่ได้ทำไว้แล้วแต่ชาติที่แล้ว มาช่วยให้เรามีความเป็นอยู่ที่พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สมบัติ อริยะทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐ ที่คนเราสามารถสร้างได้ด้วยการให้ทาน การรักษาศีล และการท่องภาวนา ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ หรือสิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ ซึ่งจะนำติดตัวไปได้ในภพภูมิใหม่ บุญยิ่งสั่งสมไว้มากๆยิ่งดี เพราะนำความสุขมาให้ในชาตินี้ และชาติหน้า

ดังพุทธศาสนาภาษิตที่พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวไว้ว่า

ปุญญะเจ ปุริโส กะยิรา กยิราเถนัง ปุนัปปุนัง
ตัมหิ ฉันทัง กะยิราถะ สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย.

“เมื่อบุรุษหรือสตรีจะพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นให้บ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น เพราะการสั่งสมขึ้นซึ่งบุญ ย่อมนำความสุขมาให้.”

ฉะนั้นจึงควรทำบุญกันไว้ให้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญอันเกิดจากการท่องธัมมะภาวนาที่ทำได้ง่ายที่สุดโดยไม่ต้องเสียเงินเสียทองใดๆ และสามารถทำได้ตลอดเวลา แม้ในชีวิตประจำวันของเราก็สามารถทำได้ มียืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน ทำ พูด คิด ด้วยการท่องธัมมะภาวนาไว้เป็นประจำในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อให้เกิดความรู้ตัวมากๆ(คือสัมปชัญญะ) อันเป็นเหตุให้จิตเกิดสติรู้สกัดกั้นไม่ให้บาปและอกุศลเกิดขึ้นในใจของเรา หรือรู้ปล่อยวางในอารมณ์ยินดียินร้าย เกิดเป็นกุศลจิต เป็นกุศลธรรม กุศลธรรมนี้แหละคือบุญอันยิ่งใหญ่ เป็นอริยะทรัพย์ที่ควรสร้างไว้ให้มากๆในใจของเรา เพื่อให้ใจของเรานำติดไปในชาติหน้า จึงทำให้เรามีสุขในชาตินี้ และสุขในชาติหน้า ดังนี้.

คาถาไว้ท่องธัมมะภาวนาให้จิตเกิดเป็นกุศลธรรมคือ “อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” ยิ่งท่องได้มากยิ่งจะทำให้มีสติรู้ปล่อยวางได้มาก ก็ยิ่งจะมีความสงบสุขได้มาก

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

การฝึกจิตให้สงบจากกิเลสกาม

การฝึกจิตให้สงบจากกิเลสกาม สงบจากอกุศลธรรม แม้จะยากควรทำไว้


         ในโลกแห่งการรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์คือการนึกคิด ที่มีแต่อารมณ์และความรู้สึก ยินดียินร้ายบ้าง, ความพอใจหรือไม่พอใจบ้าง, ความชอบใจหรือไม่ชอบใจบ้าง, ความรู้สึกเหล่านี้เรียกว่ากิเลสกาม หรืออกุศลธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีแต่จะสร้างความเศร้าหมองให้กับจิตของตน ถ้าไม่ฝึกจิตให้รู้ปล่อยวางเสียบ้าง ก็จะมีแต่สร้างความฟุ้งซ่านให้กับจิตของตน จนทำให้เกิดเป็นความทุกข์ใจได้

การฝึกจิตของตนให้รู้ปล่อยวาง มีแต่จะได้กับได้ ไม่มีเสียอะไรเลย นึกได้ก็ท่องธัมมะภาวนาไว้ไปเลื่อยๆว่า “ อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” ยิ่งนึกท่องภาวนาไว้ได้มาก สติก็จะเกิดรู้ปล่อยวางได้มาก บุญก็จะเกิดได้มากตามไปด้วย จิตที่มีสติรู้ปล่อยวางในอารมณ์ก็คือ กุศลธรรม เป็นบุญคือความสบายใจ ยิ่งมีกุศลธรรมมาก ก็ยิ่งจะทำให้จิตสงบมาก กิเลสกามหรืออกุศลธรรม ก็คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ถ้าไม่ละเสียคือไม่รู้ปล่อยวางเสีย ก็จะทำให้เราเกิดอัตตาและอคติ มีแต่เกิดความทุกข์ ควรฝึกจิตของตนให้รู้ละเสีย จิตก็จะสงบจากกิเลสกาม และสงบจากอกุศลธรรม ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ


     
          บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้

๑. บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการสละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม

๒. บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือกา...
รตั้งใจ รักษาศีล และการปฏิบัติตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของสามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด พ้นจากกายทุจริต ๔ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม และเสพสิ่งเสพติดมึนเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท วจีทุจริต ๔ ประการ คือไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม

๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด

๔. บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย) คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่ ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์

๕. บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ

๖. บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศลที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป

๗. บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมีส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มีโอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคลที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย

๘. บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรมที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิด ประโยชน์ สู่หนทางเจริญต่อไป

๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรมไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

๑๐. บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐชุกัมม์) คือ ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่นสารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ

บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมากจนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ ยิ่งได้มีการเตรียมกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์ ตั้งใจจรดเข้าสู่ศูนย์กลางกาย หยุดในหยุด เข้าไปแล้วก็ยิ่งได้รับบุญมหาศาลตามความละเอียดประณีตที่เข้าถึงยิ่งๆ ขึ้นไป


ที่มา     http://www.dhammakaya.org

วันพระ


*วันพระ*

     วันพระ เดิมเรียกว่า วันธรรมสวนะ (อ่านว่าวัน-ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ) หรือวันอุโบสถ หมายถึง วันกำหนดประชุมฟังธรรมของพุทธบริษัทหรือวันที่ถูกกำหนดให้เข้าอยู่ประจำเพื่อรักษาศีลปฏิบัติธรรม หรือเรียกว่า

อุโบสถศีล คือ ศีลที่ต้องสมาทานรักษาในวันอุโบสถ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การจำศีลซึ่งถือเป็นกิจกรรมสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถือโอกาสเข้าวัด ฝึกหัดกายวาจา ฟังธรรม ตลอดจนฝึกหัดขัดเกลากิเลสในใจ ให้บรรเทาเบาบางลง และถือโอกาสทำบุญบำเพ็ญกุศลไปด้วย โดยกำหนดให้แต่ละเดือนมี ๔ วัน คือ ๑.วันขึ้น๘ ค่ำ ๒. วันขึ้น๑๕ ค่ำ ๓.วันแรม๘ ค่ำ และ ๔.วันแรม๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ หากตรงกับเดือนขาด วันพระก็จะเลื่อนมาเป็นแรม ๑๔ ค่ำ

เรื่องของการกำหนด วันพระนั้นมีหลักฐานปรากฏในพระวินัยปิฎก อุโบสถขันธกะ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๐๖ ข้อ ๑๓๒ เป็นหลักฐานยืนยันว่า พระพุทธเจ้าได้เคยทรงอนุญาตให้ภิกษุประชุมกันในวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์ มีเรื่องเล่า ดังนี้

ระหว่างพระพุทธองค์ประทับอยู่ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เป็นขณะเดียวกันกับพวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ (นักบวชต่างศาสนา) มีการรวมตัวกันประชุมกล่าวแสดงหลักคำสอนตามความเชื่อในลัทธิของตน ทำให้ประชาชนต่างพากันแตกตื่นความแปลกใหม่ ให้ความสนใจแนวทางการสอนดังกล่าว และเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์มากมาย ส่งผลให้พระเจ้าพิมพิสาร เจ้าครองนครมคธ ครั้นทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น จึงทรงดำริว่า

*ระยะนี้ พวกปริพาชกอัญเดียรถีย์ ต่างก็พร้อมใจกันชุมนุมกล่าวแสดงหลักคำสอนของตน แก่ประชาชนในวัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำแห่งปักษ์ ทำให้ประชาชนที่ไปร่วมรับฟังต่างก็เกิดศรัทธา ไปเข้าพวกเดียรถีย์เป็นอันมาก ถ้าพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธเจ้า มีการประชุมอย่างนั้นบ้าง ก็คงจักบังเกิดผลดีแก่พระพุทธศาสนาแน่นอน*

จึงเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลเรื่องนั้นให้พระพุทธองค์ทรงทราบพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุให้มาประชุมพร้อมกันแล้วมีรับสั่งว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมพร้อมกันใน (ทุก) วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์"

อย่างไรก็ตามเมื่อพระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว แต่ไม่ได้กล่าว ไม่ได้แสดงธรรม แต่อย่างใด ต่างพากันนั่งนิ่ง ชาวบ้านก็ตำหนิ และเที่ยวประจานให้เกิดความเสียหายว่า พระสงฆ์ประชุมกันแล้วนั่งนิ่งเหมือนสุกรใบ้ถูกขุนไร้คุณค่า เพราะไม่กล่าวธรรม ไม่สอนธรรม เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบ จึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า

*ภิกษุทั้งหลาย (แต่นี้ไป) เราอนุญาตให้เธอทั้งหลายประชุมกัน กล่าวธรรม แสดงธรรม ใน (ทุก) วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ และวัน ๘ ค่ำ แห่งปักษ์*

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาภิกษุทั้งหลายจึงได้ถือปฏิบัติตามพระพุทธานุญาตตลอดมา และวันที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตนี้เรียกว่า วันอุโบสถพร้อมทั้งทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์สวดปาติโมกข์และแสดงธรรมเทศนาเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจใคร่เรียนรู้เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง จนถึงปัจจุบัน


จาก พลังจิต

คำสอนหลวงปู่เเหวน สุจิณโณ


เรื่องกามกิเลศ
  
         การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทาง ความพอใจ ก็คือกิเลส ความไม่พอใจ ก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้ อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ ไม่มีประมาณ ไหลลงสู่ทะเล ไม่มีที่เต็ม ฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่กาม ตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำ ไหลไปสู่ทะเล ไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้ง ในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีต อนาคตทั้งปวงที่ใจนี่แหละ

ภาพเขียน : Kamol Homklin <<กมล หอมกลิ่น>>

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา


        สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก
เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาค แล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย จักษุเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็น
อนัตตา สิ่งนั้นท่านทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่านั่นไม่ใช่
ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา หูเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ จมูกเป็นของไม่
เที่ยง ฯลฯ ลิ้นเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ กายเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ ใจเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใด
ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็น อนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นท่าน
ทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา
นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในจักษุ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในหู ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจมูก ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในลิ้น ย่อม
เบื่อหน่ายแม้ในกาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลาย กำหนัด เพราะคลาย
กำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้น
แล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วิญญานทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ..ไม่เที่ยง

-สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์
-สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนถาวร)
-สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้น

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

เมื่อเห็นบ่อยๆ---ย่อมเบื่อหน่าย---เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด---เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น-----ดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

ความอยากเป็นเหตุแห่งความทุกข์


ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.
๙ อย่าง อย่างไรเล่า ?
๙ อย่าง คือ :-
เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา);
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ);
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย);
เพราะอาศัยความปลงใจรัก
จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค);
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ
จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ);
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา
จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห);
เพราะอาศัยความจับอกจับใจ
จึงมี ความตระหนี่(มจฺฉริยํ);
เพราะ อาศัยความตระหนี่
จึงมี การหวงกั้น(อารกฺโข);
เพราะ อาศัยการหวงกั้น
จึงมี เรื่องราวอันเกิด จากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ) ;
กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จทั้งหลาย :
ธรรมอันเป็น บาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ชื่อว่าธรรม (สิ่ง)
ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.
นวก. อํ. ๒๓/๔๑๓/๒๒๗. , (มหา. ที. ๑๐/๖๙/๕๙).

การฝึกจิตให้สงบนิ่งดุจ พระพุทธรูป


         พระพุทธรูปเป็นตัวแทนรูปเคารพของพระพุทธเจ้า และตัวแทนความหมายของพระสัจธรรมคำสั่งสอนคือพระนิพพาน พระนิพพานคือความหลุดพ้น คือความสุขอย่างยิ่ง คือความไม่ปรุงแต่ง คือความว่างอย่างยิ่ง เป็นต้น ยังมีความหมายอีกมากไม่ขอกล่าวถึง แต่สรุปได้ว่าพระพุทธรูป คือพระรูปที่ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดๆที่มากระทบดุจดังความหมายของพระนิพพาน พระรูปของพระองค์ทรงมีความสงบนิ่ง ต่อสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าใครจะมาชมชอบ หรือมาติว่าร้าย ท่านก็สงบนิ่งนี่คือลักษณะของท่าน เราจึงขอนำลักษณะนี้มาฝึกจิตของเราให้มีความสงบนิ่ง เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน

เราจะฝึกจิตของเราให้สงบนิ่งได้อย่างไร เราก็จะต้องนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องระลึกรู้ในจิตของตน หรือเอามาท่องเป็นธัมมะภาวนาไว้ในจิตของเราว่า “ อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” นี่คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเราได้เอามาท่องไว้ในใจตลอดเวลาก็จะสร้างความรู้ตัวให้กับจิตของเรา จิตของเราก็จะเกิดสติ คือความระลึกได้ที่จะไม่ ”ยินดียินร้าย...ไม่ว่าร้ายใคร...ไม่คิดร้ายใคร...” ตามคำสั่งสอน จิตของเราก็จะเกิดความสงบนิ่ง ไม่มีความหวั่นไหวดุจดังพระพุทธรูป ไม่ว่าใครจะมาชมหรือมาติว่าร้ายเรา และการรับรู้ในสิ่งใดๆที่มากระทบจาก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ใจของเราก็จะไม่หวั่นไหวมีความสงบนิ่ง มีความรู้ว่าง ไม่มีความนึกคิดปรุงแต่งจิต จิตจึงสงบนิ่ง มีความเย็น มีความสบายใจ มีความสุขอย่างยิ่ง ดังนี้.

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

37 มีจิตปราศจากกิเลส


               กิเลส ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง ซึ่งได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ท่านได้แบ่งประเภทของกิเลสออกเป็นดังนี้ คือ

๑.ราคะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความโลภอย่างแรงจนแสดงออกมา เช่นการลักขโมย ปล้น จี้ ข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น (อภิชฌาวิสมโลภะ)

-ความเพ่งเล็งจะเอาของคนอื่นมาเป็นของตัว มีใจอยากได้ของคนอื่นแต่ยังไม่ถึงกับแสดงออก (อภิชฌา)

-ความอยากได้ในทางไม่ชอบ เช่นการยอมรับสินบน การทุจริตเพื่อแลกกับการมีทรัพย์เป็นต้น (ปาปิจฉา)

-ความมักมากเห็นแก่ได้ ด้วยการเอามาเป็นของตนจนเกินพอดี เอาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่คำนึงถึงคนอื่น (มหิจฉา)

-ความยินดีในกาม ก็คือยังไม่สามารถละกิจกรรมทางเพศได้ ยังมีความรู้สึก มีแรงกระตุ้น มีความพอใจในเรื่องเพศ (กามระคะ)

-ความยินดีในรูปธรรมอันปราณีต ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของรูปฌาณ ปรารถนาในรูปของภพเมื่อทำสมาธิขั้นสูงขึ้นไป (รูปราคะ)

-ความยินดีในอรูปฌาณ ก็คือติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาณเมื่อทำสมาธิถึงภพของอรูปพรหม (อรูปราคะ)

๒.โทสะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-พยาบาท คือการผูกใจอาฆาต มีใจที่ไม่หวังดี การจองเวร

-โทสะ คือการคิดประทุษร้าย เนื่องด้วยมีใจพยาบาทแล้วก็มีใจคิดหมายทำร้าย

-โกธะ คือความโกรธ ความเดือดร้อนใจ ซึ่งล้วนเป็นเหมือนไฟที่เผาตัวเอง

-ปฏิฆะ คือความขัดใจ ความไม่พอใจอันทำให้อารมณ์หงุดหงิด

๓.โมหะ สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น

-ความเห็นผิดเป็นชอบ เช่นการไม่เชื่อในเรื่องบาป เรื่องบุญเป็นต้น (มิจฉาทิฐิ)

-ความหลงผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริง (โมหะ)

-การเห็นว่ามีตัวตน เช่นการเชื่อในสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าเท่านั้น (สังกายทิฏฐิ)

-ความสงสัย คือสงสัยในพระธรรม คำสั่งสอนในเรื่องการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ (วิจิกิจฉา)

-การยึดถืออย่างงมงาย เช่นการไปกราบไหว้สัมพเวสีที่อยู่ตามต้นไม้ ขอลาภเป็นต้น (สีลัพพตปรามาส)

-ความถือตัว คือการสำคัญตัวเองผิดว่าเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ (มานะ)

-ความฟุ้งซ่าน คือการที่จิตใจว่อกแวก คิดไม่เป็นสาระ ไม่อยู่กับร่องกับรอย ไม่มีสมาธิ หรือการทำสมาธิไม่นิ่ง (อุทธัจจะ)

-ความไม่รู้จริง คือการที่รู้แค่ผิวเผิน หรือการทึกทักเอาเอง ไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรม ยังไม่เกิดปัญญา (อวิชชา)

โทษของการมีกิเลสดังกล่าวข้างต้นพอสรุปได้สั้นๆ ดังนี้คือ

๑.ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า

๒.โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว

๓.โมหะ มีโทษมาก แต่คลายช้า

คิริมานนทสูตร



           ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตะวันมหาวิหาร ครั้งนั้น ท่านคิริมานนท์อาพาธ(เจ็บป่วย) หนัก กระสับกระส่ายเพราะพิษไข้ ท่านพระอานนท์จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลให้เสด็จไปเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าอานนท์จะไปเยี่ยมพระคิริมานนท์จงแสดงสัญญา ๑๐ อย่าง ให้พระคิริมานนท์ฟังด้วย เพราะเมื่อฟังจบแล้วจะหายจากโรคาพาธนั้นโดยเร็วพลัน จากนั้นทรงแสดงสัญญา ๑๐ ให้ท่านพระอานนท์ได้เรียนและจดจำเพื่อนำไปแสดงแก่พระคิริมานนท์ต่อไป
สัญญา ๑๐
๑. อนิจจสัญญา
๒. อนัตตสัญญา
๓. อสุภสัญญา
๔. อาทีนวสัญญา
๕. ปหานสัญญา
๖. วิราคสัญญา
๗. นิโรธสัญญา
๘. สัพพโลเกอนภิรตสัญญา
๙. สัพพสังขาเรสุอนิฏฐสัญญา
๑๐. อานาปานสติ
สัญญา หมายถึง ความจำได้, ความหมายรู้ได้, หรือความกำหนดหมาย เป็นสัญญาชั้นสูงที่จะนำไปสู่ปัญญา มี ๑๐ ประการ คือ
๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร หมายถึง การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอุปาทานขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดมาแล้วดับไป ผันแปรเปลี่ยนสภาพตลอดเวลา หรือเป็นสิ่งชั่วคราวตั้งอยู่ได้ชั่วขณะ
๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรม หมายถึง การพิจารณาเห็นความเป็นของมิใช่ตัวตนของอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) และอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์) ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสภาพว่างเปล่าหาสภาวะที่แท้จริงไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง หรือไม่อยู่ในอำนาจบังคับของใคร
๓. อสุภสัญญา กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย หมายถึง การพิจารณาร่างกายนี้ทั้งหมด ตั้งแต่พื้นฝ่าเท้าขึ้นไปจนถึงปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีอยู่ในกายนี้ ๓๑ อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น พิจารณาจนเกิดเห็นความไม่งามของกายขึ้นในจิต
๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายโทษแห่งกาย คือ มีอาพาธต่างๆ หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก ความเจ็บไข้ต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้ในกายนี้ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนฤดูกาล, วิบากกรรม, หรือการรักษาสุขภาพร่างกายไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
๕. ปหานสัญญา กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตก และบาปธรรม หมายถึง การไม่รับเอาอกุศลวิตก ๓ (กามวิตก, พยาบาทวิตก, วิหิงสาวิตก) ที่เกิดขึ้น แต่กลับพยายามละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด และทำให้อกุศลทั้งหลายทั้งปวงไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป
๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายวิราคะ คือ อริยมรรคว่า เป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่า ภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด และพระนิพพานเป็นภาวะที่สำรอกกิเลสได้จริง
๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายนิโรธความดับตัณหา คือ อริยผล ว่าเป็นธรรมอันละเอียด หมายถึง การพิจารณาเห็นว่าภาวะที่สงบ ประณีต คือ ความระงับแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ และพระนิพพาน เป็นภาวะที่ดับตัณหาได้จริง
๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง หมายถึง การละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต งดเว้นไม่ถือมั่น รู้จักยับยั่งใจไม่ให้ไหลไปตามอำนาจตัณหา
๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมายความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง หมายถึง การพิจารณาความไม่ปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ จนเกิดความอึดอัด ระอาเบื่อหน่าย รังเกียจในสังขารทั้งปวง
๑๐. อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก หมายถึง การตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปในที่อื่น กำหนดจิตเฉพาะที่ลมหายใจเข้าออก
พระอานนท์ เมื่อได้เรียนทรงจำสัญญา ๑๐ ประการนี้ได้แล้วจึงได้ไปเยี่ยมไข้พระคิริมานนท์ แล้วกล่าวสัญญา ๑๐ นั้นแก่ท่าน เมื่อฟังจบแล้วท่านพระคิริมานนท์ได้หายขาดจากอาพาธนั้น
การที่ทุกขสัญญาไม่ปรากฏอยู่ในสัญญา ๑๐ ประการ ในคิริมานนท์สูตรนั้น มิใช่หมายความว่าไม่มีเรื่องทุกข์ร่วมอยู่ในที่นั้นด้วย เพราะทุกข์ได้ทรงแสดงไว้ในอาทีนวสัญญา การที่ทรงแสดงทุกข์ด้วยอาทีนวสัญญานั้น ก็โดยมีพระพุทธประสงค์ที่จะให้เหมาะแก่บุคคลผู้รับพระธรรมเทศนา คือ พระคิริมานนท์ผู้กำลังต้องอาพาธอยู่ จึงได้ทรงยกโรคาพาธต่างๆ อันเป็นอาการของทุกข์ขึ้นแสดง โดยความเป็นโทษของร่างกายเสียทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นอันยุติว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทุกข์ไว้ในที่นั้นโดยชื่อว่า อาทีนวสัญญา ฯ

การทำจิตให้สงบและนิ่งได้ คือความสุขแท้




          คนเราทุกวันนี้มีจิตที่ไม่ค่อยสงบและนิ่ง ก็เพราะเราอยู่ในโลกของวัตถุปรุงแต่ง ที่ชวนให้รัก, ชักให้ใคร, พาใจให้ไหลหลง, ทำให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เป็นบาปอกุศลจิต คือจิตที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำอยู่ เกิดเป็นกิเลสกามคือความอยาก ทำให้จิตว้าวุ่นฟุ้งซ่าน หาความสงบสุขและนิ่ง ไม่ค่อยได้ วัตถุปรุงแต่ง คือวัตถุแห่งกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นี้เองคือสาเหตุ ทำให้เกิดความรู้สึกยินดียินร้าย เป็นกิเลสกามคือความอยาก ทำให้จิตไม่สงบนิ่ง เกิดความว้าวุ่นฟุ้งซ่านเป็นทุกข์ตามมาให้ผล

การจะทำให้จิตของเราออกจากความรู้สึกยินดียินร้ายได้ จะต้องมีธัมมะภาวนาท่องเอาไว้ในใจว่า “ อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” ของตนอยู่เสมอๆ ตลอดเวลาเพื่อสร้างความรู้ตัวให้กับจิตของตน อันเป็นเหตุให้จิตของเราเกิดสติ รู้สกัดกั้นบาปอกุศลไม่ให้เกิดขึ้น ยิ่งมีการท่องธัมมะภาวนาไว้มากๆ ก็ยิ่งจะมีสติได้เร็วจนเป็นอัตโนมัติ จึงจะทำให้จิตของเราเกิดความสงบและนิ่งได้ จนเป็นจิตว่าง เป็นกุศลจิตที่มีความผ่องใส เป็นบุญคือความสบายใจ ความสุขแท้ก็จะเกิดขึ้นได้เอง ดังนี้. ใครไม่เชื่อก็ให้ลองดูได้

โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

การตามดูจิต

การตามดูจิต คือการตามดูเหตุ ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ 

 

     จิตของคนเรามีความเป็นทุกข์อยู่เสมอในชีวิตประจำวัน เช่นทุกข์เกิดจากความไม่สบายกายความไม่สบายใจ, ทุกข์เพราะอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น, ทุกข์เพราะความกำหนัดรักใคร่, ทุกข์เพราะความรู้สึกฟุ้งซ่าน, ความเหงาความวุ่นวายใจ, ทุกข์เพราะความสูญเสียความผิดหวังความกังวลใจ, ทุกข์เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วย, และทุกข์เพราะความกลัวในสิ่งต่างๆเป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในจิตของคนเราได้เสมอในทุกๆวัน สิ่งเหล่านี้คือ อกุศลจิต มีความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำจิตอยู่
เมื่อเราได้ตามดูรู้เห็นสิ่งเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตของตนเองแล้ว ก็ให้รีบท่องธัมมะภาวนาไว้ว่า “ อย่ายินดียินร้าย...อย่าว่าร้ายใคร...อย่าคิดร้ายใคร...” เพื่อเป็นการชำระจิตไม่ให้จิตหลงไป เพื่อให้จิตมีสติรู้ปล่อยวางในอารมณ์ หรือถอนอาการเหล่านั้นออกเสียจากจิตของเรา เพื่อให้จิตของเรากลับมาสู่ความสงบสุข การได้ท่องธัมมะภาวนาไว้เสมอๆในจิต จัดเป็นธรรมมานุสสติ คือการระลึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตเกิดความสงบอยู่ในพระธรรมคือกุศลธรรม และยังเป็นการกำหนดรู้ทุกข์ และละเหตุแห่งทุกข์ ที่เกิดในจิตของตนได้ด้วย ทำให้จิตของตนเป็นบุญคือความสบายใจ เป็นกุศลคือจิตมีความผ่องใส ดังนี้.


โดยหลวงพ่ออุดม มหาปุญโญ วัดป่าหนองเลง

หลวงพ่อเงินวัดบางคลานพิจิตร

ด้านหน้า ด้านหลัง พระผงรูปเหมือนข้างพัดหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร เนื้อเก่ายุคต้นๆ ราคาเบาๆ ครับ  ๙๙๙.๙๙๙ บาท โทร 08722...